วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2554

แถลงนโยบาย รบ.ยิ่งลักษณ์


วันที่ 23-24 สิงหาคม เป็นวันที่คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งเป็นการเปิดฉากการทำหน้าที่ของรัฐบาลอย่างเป็นทางการ
SIU ขอนำเสนอบางประเด็นที่น่าสนใจต่อนโยบายของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ เพื่อเป็นข้อมูลในการติดตามผลการดำเนินงานของรัฐบาลนับตั้งแต่นี้ไป
แต่ลำดับแรกสุดขออธิบายถึงแนวคิดและหลักการของการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาสักเล็กน้อย

ทำไมต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา?
ผู้อ่านบางท่านอาจจะสงสัยว่าทำไมรัฐบาลต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา จริงๆ เรื่องนี้เป็นบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว โดยรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 ได้ระบุเรื่องนี้ไว้ในมาตรา 176 ว่าเมื่อได้นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีแล้ว จะต้องแถลงนโยบายต่อหน้ารัฐสภาก่อนจะเข้าบริหารประเทศ ยกเว้นมีกรณีสำคัญและเร่งด่วนจริงๆ เท่านั้น
มาตรา ๑๗๖
คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา และชี้แจงการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามมาตรา ๗๕ โดยไม่มีการลงมติความไว้วางใจ ทั้งนี้ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันเข้ารับหน้าที่ และเมื่อแถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้วต้องจัดทำแผนการบริหาร ราชการแผ่นดิน เพื่อกำหนดแนวทางการปฏิบัติราชการแต่ละปีตามมาตรา ๗๖
ก่อนแถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามวรรคหนึ่ง หากมีกรณีที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะกระทบต่อประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีที่เข้ารับหน้าที่ จะดำเนินการไปพลางก่อนเพียงเท่าที่จำเป็นก็ได้
หากอธิบายในภาษาง่ายๆ การแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเป็นการบอกว่า รัฐบาลจะทำอะไรบ้างในช่วงอายุของรัฐบาล 4 ปีและรัฐบาลมีหน้าที่ทำงานตามแนวทางที่แถลงไว้ในระยะเวลาทั้งหมดที่บริหารประเทศ ถึงแม้จะดูเป็นงานพิธีการที่ไม่มีประโยชน์โดยตรง แต่มันเปรียบเสมือนการกำกับดูแลแนวทางของรัฐบาลให้ทำตามที่ตัวเองสัญญาไว้
ส่วนที่ต้องแถลงต่อรัฐสภานั้น ก็เพราะเปรียบรัฐสภาเป็นตัวแทนของประชาชนทั้งประเทศ ตามแนวคิดประชาธิปไตยแบบตัวแทนนั่นเอง (อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน การสื่อสารก้าวหน้ามาก ประชาชนที่สนใจก็สามารถรับฟังการแถลงนโยบายได้โดยตรงด้วย)
นโยบายที่แถลงจะมีหน้าตาอย่างไร?
เนื้อหาในนโยบายของรัฐบาลจะผสมผสานกันระหว่าง แนวนโยบายแห่งรัฐตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ กับ นโยบายของพรรคการเมืองตามที่พรรคการเมืองหาเสียงไว้ในช่วงการเลือกตั้ง
รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 เขียนเรื่องนี้ไว้ในหมวดที่ 5 โดยระบุว่าคณะรัฐมนตรีจะต้องระบุว่าจะดำเนินนโยบายอะไรบ้าง ในกรอบเวลาอย่างไร และหลังจากดำเนินการไปแล้วทุกๆ 1 ปีจะต้องแถลงผลงานต่อสภาด้วย
มาตรา ๗๕
บทบัญญัติในหมวดนี้เป็นเจตจำนงให้รัฐดำเนินการตรากฎหมายและกำหนดนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดิน
ในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องชี้แจงต่อรัฐสภาให้ชัดแจ้งว่าจะดำเนินการใด ในระยะเวลาใด เพื่อบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ และต้องจัดทำรายงานแสดงผลการดำเนินการ รวมทั้งปัญหาและอุปสรรคเสนอต่อรัฐสภาปีละหนึ่งครั้ง
มาตรา ๗๖
คณะรัฐมนตรีต้องจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อแสดงมาตรการและรายละเอียดของแนวทางในการปฏิบัติราชการในแต่ละปีของการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ
ในการบริหารราชการแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีต้องจัดให้มีแผนการตรากฎหมายที่จำเป็นต่อการดำเนินการตามนโยบายและแผนการบริหารราชการแผ่นดิน
ส่วนของเนื้อหานโยบายนั้น รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ได้กำหนด แนวนโยบายแห่งรัฐเปรียบเสมือน แนวหรือ นโยบายในภาพกว้างที่รัฐบาลไหนๆ ก็ต้องปฏิบัติตามนี้ ส่วนแผนงาน แผนปฏิบัติการว่าจะทำอย่างไร เป็นหน้าที่ของแต่ละรัฐบาลจะเสนอผ่านการแถลงนโยบายนั่นเอง
ส่วนของ แนวนโยบายแห่งรัฐอยู่ในมาตรา 77-87 ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งก็แบ่งแนวนโยบายออกเป็นหลายด้าน เช่น ความมั่นคง การบริหารราชการแผ่นดิน ศาสนา สังคม สาธารณสุข การศึกษา กฎหมาย เศรษฐกิจ ฯลฯ (ผู้สนใจสามารถดูข้อความในรัฐธรรมนูญ หมวด 5 ที่ Wikisource)
คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี รัฐบาลยิ่งลักษณ์
เว็บไซต์รัฐบาลไทยได้เผยแพร่คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดได้จากThaigov.go.th (PDF)
นโยบายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์จะแบ่งออกเป็น 8 ข้อใหญ่ แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ข้อหนึ่งเป็น นโยบายเร่งด่วนที่จะดำเนินการในปีแรกส่วนอีกเจ็ดข้อที่เหลือคือนโยบายระยะยาว 4 ปี แบ่งออกเป็นนโยบายตามด้านต่างๆ
  1. นโยบายเร่งด่วนที่จะดำเนินการในปีแรก
  2. นโยบายความมั่นคงแห่งรัฐ
  3. นโยบายเศรษฐกิจ
  4. นโยบายสังคมและคุณภาพชีวิต
  5. นโยบายที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  6. นโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรม
  7. นโยบายการต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
  8. นโยบายการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
นอกจากนี้ในคำแถลงนโยบาย ยังมีส่วนของการมองปัญหาของประเทศ และภาพกว้างว่ารัฐบาลมีจุดประสงค์ใหญ่ในการบริหารราชการแผ่นดินอย่างไร ปิดท้ายด้วยตารางแสดงความสอดคล้องระหว่างนโยบายของคณะรัฐมนตรี กับแนวนโยบายแห่งรัฐในหมวด 5 ของรัฐธรรมนูญ
โครงสร้างการเขียนนโยบายลักษณะนี้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ทำกันมาหลายรัฐบาล โดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ใช้โครงร่างเอกสารแบบเดียวกัน คือมีนโยบายข้อใหญ่ 8 ข้อ เพียงแต่รายละเอียดของแต่ละนโยบายปลีกย่อยนั้นต่างกันออกไป
หมายเหตุ: ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดนโยบายของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เพื่อศึกษาเปรียบเทียบได้ (หรือดาวน์โหลดจากต้นฉบับบนเว็บไซต์ Thaigov)
ถ้าหากผู้อ่าน SIU ลองอ่านเอกสารนโยบายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ตามที่แทรกไว้ด้านบน จะเห็นว่ามีส่วนผสมผสานระหว่างนโยบายที่พูดยังไงก็ถูก เช่น ส่งเสริมการศึกษา พัฒนาคุณภาพครู รักษาสิ่งแวดล้อม และ “นโยบายที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้มากขึ้น ซึ่งจะเหมือนกับนโยบายที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ก่อนเลือกตั้ง เช่น ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท การแจกแท็บเล็ตพีซี เป็นต้น
ในโอกาสนี้ SIU ขอหยิบนโยบายเพียงบางข้อที่น่าสนใจมาอภิปราย โดยแบ่งหัวข้อให้ตรงตามเอกสารคำแถลงนโยบาย เพื่อง่ายต่อการติดตาม
การมองปัญหาภาพกว้างของประเทศ
ในส่วนต้นของเอกสารคำแถลงนโยบาย รัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ระบุว่าประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วง การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่
  1. การเปลี่ยนผ่านของเศรษฐกิจ ซึ่งเศรษฐกิจของประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงเพราะเหตุผล 4 ประการ คือ
    1. เศรษฐกิจโลกผันผวน เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจในสหรัฐและยุโรป และการขยายตัวของจีนกับอินเดีย
    2. โครงสร้างเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกและการลงทุนจากต่างชาติมาก ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศขึ้นกับเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก
    3. ประเทศไทยนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศสูงถึงร้อยละ 55 โดยเฉพาะน้ำมันดิบ
    4. ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของประชาชนในประเทศ
  2. การเปลี่ยนผ่านด้านการเมือง ความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา
  3. การเปลี่ยนผ่านของโครงสร้างประชากรและสังคมไทย โดยเน้นเรื่องการเปลี่ยนไปสู่สังคมสูงอายุ ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังมีเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมอื่นๆ ด้วย
ตรงนี้ต้องถือว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์มองภาพกว้างได้ค่อนข้างครบถ้วน และเน้นไปในเรื่องเศรษฐกิจซึ่งรัฐบาลพรรคไทยรักไทยเดิมมีชื่อเสียงอยู่แล้ว
จากประเด็นปัญหา รัฐบาลได้นำเสนอ จุดมุ่งหมายหรือ เป้าหมายที่เป็นประเด็นหลักในการบริหารราชการแผ่นดิน 3 ประการ
ประการที่หนึ่ง เพื่อนำประเทศไทยไปสู่โครงสร้างเศรษฐกิจที่สมดุล มีความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการสร้างการเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน การพัฒนาคุณภาพและสุขภาพคนไทยในทุกช่วงวัย ถือเป็นปัจจัยชี้ขาดความสามารถในการอยู่รอดและแข่งขันได้ของเศรษฐกิจไทย
ประการที่สอง เพื่อนำประเทศไทยสู่สังคมที่มีความปรองดองสมานฉันท์และอยู่บนพื้นฐานของหลักนิติธรรมที่เป็นมาตรฐานสากลเดียวกันและมีหลักปฏิบัติที่เท่าเทียมกันต่อประชาชนคนไทยทุกคน
ประการที่สาม เพื่อนำประเทศไทยไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘ อย่างสมบูรณ์ โดยสร้างความพร้อมและความเข้มแข็งทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และการเมืองและความมั่นคง
เป้าหมายสองข้อแรกนั้นสะท้อนการแก้ ปัญหาสองข้อแรก ส่วนเป้าหมายข้อที่สามนั้นพูดเรื่องประชาคมอาเซียน 2015 (หรือ พ.ศ. 2558) ซึ่งจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศไทยในอนาคตอันใกล้นี้

1) นโยบายเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรก
แบ่งออกเป็น 16 ข้อย่อย โดยส่วนมากคือนโยบายที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงเอาไว้ช่วงก่อนการเลือกตั้ง
๑.๑ สร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติและฟื้นฟูประชาธิปไตย
๑.๑.๑ สร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติและฟื้นฟูประชาธิปไตย โดยการเสริมสร้างความเข้าใจร่วมกันของประชาชนในชาติให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
๑.๑.๒ เยียวยาและฟื้นฟูอย่างต่อเนื่องแก่บุคคลทุกฝ่าย เช่น ประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐ และผู้ประกอบการภาคเอกชน ซึ่งได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากความเห็นที่แตกต่าง และความรุนแรงที่ก่อตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายของการใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐
๑.๑.๓ สนับสนุนให้คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ดำเนินการอย่างเป็นอิสระและได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายอย่างเต็มที่ในการตรวจสอบและค้นหาความจริงจากกรณีความรุนแรงทางการเมือง การละเมิดสิทธิมนุษยชน การสูญเสียชีวิต บาดเจ็บทางร่างกายและจิตใจ รวมทั้งความเสียหายทางทรัพย์สิน
ข้อ 1.1.1 คงเป็นหลักการในภาพใหญ่ทั่วไป จุดที่น่าสนใจคือข้อ 1.1.2 ที่เน้นการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งจะมีผลอย่างมากต่อกลุ่มคนเสื้อแดงที่เป็นแนวร่วมของพรรคเพื่อไทย (ซึ่งล่าสุดนี้ก็มีประเด็นเรื่องค่าชดเชย 10 ล้านบาทออกมาแล้ว) ส่วนข้อ 1.1.3 แสดงการสนับสนุนคณะกรรมการ คอป. ชุดของนายคณิต ณ นคร ที่พรรคเพื่อไทยออกมาประกาศช่วงใกล้เลือกตั้งว่าสุดท้ายแล้วจะต่อยอดการทำงานของ คอป. ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ช่วง 1 ปีที่ผ่านมาในรัฐบาลอภิสิทธิ์ คอป. กลับทำงานได้ไม่สะดวกนักเพราะขาดอำนาจในการสืบสวน และการเรียกเจ้าหน้าที่ของรัฐมาให้ปากคำ ต้องรอดูว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์จะแก้ปัญหานี้อย่างไร
๑.๒ กำหนดให้การแก้ไขและป้องกันปัญหายาเสพติดเป็น วาระแห่งชาติ โดยยึดหลักนิติธรรมในการปราบปรามลงโทษผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้มีอิทธิพล และผู้ประพฤติมิชอบ โดยบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ยึดหลักผู้เสพคือผู้ป่วยที่ต้องได้รับการบำบัดรักษาให้กลับมาเป็นคนดีของสังคม พร้อมทั้งมีกลไกติดตามช่วยเหลืออย่างเป็นระบบดำเนินการอย่างจริงจังในการป้องกันปัญหาด้วยการแสวงหาความร่วมมือเชิงรุกกับต่างประเทศในการควบคุมและสกัดกั้นยาเสพติด สารเคมี และสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติดที่ลักลอบเข้าสู่ประเทศภายใต้การบริหารจัดการอย่างบูรณาการและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งดำเนินการป้องกันกลุ่มเสี่ยงและประชาชนทั่วไปไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ด้วยการรวมพลังทุกภาคส่วนเป็นพลังแผ่นดินในการต่อสู้กับยาเสพติด
ประเด็นเรื่องยาเสพติดในรัฐบาลยิ่งลักษณ์เป็นเรื่องน่าสนใจ เพราะอดีตรัฐบาลไทยรักไทยมีปัญหาเรื่องความรุนแรงในการปราบปรามผู้ค้ายาเสพติด
จุดที่น่าสนใจในนโบายเรื่องนี้คงเป็นประโยคว่า ยึดหลักนิติธรรมในการปราบปรามลงโทษซึ่งต้องจับตากันต่อไปว่าในระยะยาวจะทำได้จริงแค่ไหน
แต่เมื่อพิจารณาว่าประเด็นเรื่องนี้ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกโจมตีจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและระดับนานาชาติอย่างรุนแรง (อ่านบทความ Human Rights Watch ส่งหนังสือถึงยิ่งลักษณ์ให้แก้ปัญหาสิทธิมนุษยชน ประกอบ) จนกลายเป็นจุดอ่อนทางการเมือง ก็คงประเมินได้ว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์จะหลีกเลี่ยง ไม่เดินซ้ำรอยความผิดพลาดนี้
๑.๕ เร่งนำสันติสุขและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนกลับมาสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ควบคู่ไปกับการขจัดความยากจน ยาเสพติด และอิทธิพลอำนาจมืด โดยน้อมนำกระแสพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เข้าใจ เข้าถึง พัฒนาเป็นหลักปฏิบัติในแนวทางสันติวิธี โดยเน้นการส่งเสริมความร่วมมือในทุกภาคส่วนกับประชาชนในพื้นที่ อำ นวยความยุติธรรมอย่างทั่วถึง เพิ่มโอกาสทางการศึกษาและคุณภาพชีวิต สร้างโอกาสและความเสมอภาค พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ เคารพอัตลักษณ์ ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น ส่งเสริมการกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปแบบที่สอดคล้องกับลักษณะพื้นที่โดยไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ จะมีการบูรณาการการบริหารจัดการทุกภาคส่วนให้มีเอกภาพทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ รวมทั้งปรับปรุง พัฒนากฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้อง ทันสมัยกับสภาพความเป็นจริงของปัญหาที่เกิดขึ้น ตลอดจนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบอย่างเป็นธรรม
การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นปัญหาเรื้อรังมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณ และยังไม่สามารถแก้ไขได้โดยง่าย
ในนโยบายข้อ 1.5 พูดถึงแนวทางแก้ปัญหาในภาพรวม ซึ่งคงไม่แตกต่างกันกับรัฐบาลอื่นๆ จุดที่น่าสนใจคือประเด็นเรื่อง การกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่นโดยไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญซึ่งก็คือแนวคิด นครปัตตานีที่พรรคเพื่อไทยเสนอนั่นเอง
ประเด็นเรื่องเขตการปกครองพิเศษเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก เพราะอาจถูกโจมตีเรื่องการแบ่งแยกดินแดนหรือการเสียดินแดนได้ คาดว่าพรรคเพื่อไทยคงจะเลี่ยงการใช้คำว่า นครปัตตานีในนโยบาย และเปลี่ยนมาใช้คำว่า การปกครองส่วนท้องถิ่นแทน โดยเสริมคำขยายว่า ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญเอาไว้ด้วย
๑.๖ เร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์และพัฒนาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและนานาประเทศ เพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคร่วมกัน โดยเฉพาะการเร่งแก้ไขปัญหากระทบกระทั่งตามแนวพรมแดน ผ่านกระบวนการทางการทูตบนพื้นฐานของสนธิสัญญาและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และเร่งดำเนินการตามข้อผูกพันในการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘ ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง ตลอดจนการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งภายในและภายนอกภูมิภาค
เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าความสัมพันธ์ของไทยกับเพื่อนบ้านโดยเฉพาะกัมพูชา ตกต่ำถึงขีดสุดในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เนื่องจากมีปัญหาการปะทะกันในแนวพรมแดนหลายจุด และสร้างความคั่งแค้นให้กับประชาชนทั้งสองฝั่ง
สันติภาพกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นสิ่งที่น่าปรารถนาของทุกประเทศ และการที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ซึ่งมีสายสัมพันธ์อันดีกับนายกฯ ฮุน เซน ของกัมพูชา ได้บรรจุเรื่องการฟื้นความสัมพันธ์ไว้ในนโยบายเร่งด่วน เป็นสิ่งที่น่าสนับสนุน
๑.๗ แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและผู้ประกอบการเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อและราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
๑.๗.๑ ชะลอการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงบางประเภทชั่วคราวเพื่อให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงทันที และปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบให้มุ่งสู่การสะท้อนราคาต้นทุนพลังงาน
๑.๗.๒ จัดให้มีบัตรเครดิตพลังงานสำหรับผู้ประกอบอาชีพรถรับจ้างขนส่งผู้โดยสารสาธารณะในวงเงินที่เหมาะสมกับค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้จริงต่อเดือน
๑.๗.๓ ดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและราคาพลังงานให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่ผู้บริโภคและผู้ผลิต
๑.๗.๔ แก้ไขปัญหาค่าครองชีพโดยการดูแลราคาสินค้าและการมีรายได้เพื่อเพิ่มกำลังซื้อสุทธิของประชาชนโดยป้องกันและแก้ไขการผูกขาดทั้งทางตรงและทางอ้อม
นโยบายข้อ 1.7 เป็นเรื่องสภาวะค่าครองชีพในระยะสั้น เราต้องไม่ลืมว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ในปีสุดท้ายโดนปัญหาเรื่องค่าครองชีพถีบตัวสูง ไม่ว่าจะเป็นไข่ น้ำตาล น้ำมันปาล์ม หรือหมู ราคาแพงขึ้นมาก จนเสียคะแนนนิยม และแพ้การเลือกตั้ง
รัฐบาลยิ่งลักษณ์นั้นสืบทอด ภาพลักษณ์ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจมาจากรัฐบาลพรรคไทยรักไทยเดิม เรื่องค่าครองชีพจึงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องเน้นมากในระดับ พลาดไม่ได้และต้องออกมาตรการเร่งด่วนมาแก้ไขปัญหานี้ทันที
ประเด็นที่น่าสนใจคือข้อ 1.7.1 เรื่องการชะลอการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพื่อให้ราคาน้ำมันลดลง ซึ่งถือเป็นนโยบายประชานิยมเรียกคะแนนเสียงแบบหนึ่ง นโยบายนี้ย่อมทำให้ประชาชนพึงพอใจ แต่ก็มีคำถามว่าในระยะยาวจะแก้ปัญหาได้แค่ไหน และถ้าราคาน้ำมันโลกกลับมาถีบตัวสูงขึ้น รัฐบาลจะเอาเงินที่ไหนมาใช้ชดเชยส่วนต่างค่าน้ำมัน ดังนั้นในระยะยาวแล้ว รัฐบาลจะต้องรีบแก้ไขปัญหาเรื่องโครงสร้างราคาพลังงาน และดำเนินนโยบายพลังงานทดแทนไปพร้อมกันด้วย
ส่วนนโยบายข้อ 1.7.2 น่าสนใจมากเพราะเป็นนโยบายชุด บัตรเครดิตที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงเอาไว้ ถึงแม้จะไม่โด่งดังเหมือนบัตรเครดิตเกษตรกร แต่ก็มีพื้นฐานแนวคิดแบบเดียวกัน นั่นคือให้ วงเงินสำหรับผู้ประกอบกิจการบางประเภทไว้ให้ดำเนินธุรกิจเป็นการฉุกเฉิน เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ นโยบายเหล่านี้ย่อมถูกใจผู้ประกอบการ และส่งเสริมภาคธุรกิจ แต่ก็เกิดคำถามแบบเดียวกันว่าจะควบคุมเรื่องหนี้หรือวินัยในการใช้เงินได้อย่างไร
๑.๘ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ สร้างสมดุลและความเข้มแข็งอย่างมีคุณภาพให้แก่ระบบเศรษฐกิจมหภาค
๑.๘.๑ พักหนี้ครัวเรือนของเกษตรกรรายย่อยและผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้ต่ำกว่า ๕๐๐,๐๐๐ บาท อย่างน้อย ๓ ปี และปรับโครงสร้างหนี้สำหรับผู้ที่มีหนี้เกิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท รวมทั้งจัดทำแผนฟื้นฟูอาชีพและแผนการปรับโครงสร้างการผลิตอย่างครบวงจร เพื่อสร้างโอกาสในการยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยการมีรายได้ที่มั่นคงและสามารถใช้หนี้คืน
๑.๘.๒ ดำเนินการให้แรงงานมีรายได้เป็นวันละไม่น้อยกว่า ๓๐๐ บาท และผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีมีรายได้เดือนละไม่น้อยกว่า ๑๕,๐๐๐ บาท อย่างสอดคล้องกับผลิตภาพและประสิทธิภาพของบุคลากร รวมทั้งมีมาตรการเพื่อลดภาระแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบเพื่อให้แรงงานและบุคลากรสามารถดำรงชีพได้อย่างมีศักดิ์ศรีและคุณภาพชีวิตที่ดี
๑.๘.๓ จัดให้มีเบี้ยยังชีพรายเดือนแบบขั้นบันไดสำหรับผู้สูงอายุ โดยผู้ที่มีอายุ ๖๐-๖๙ ปี จะได้รับ ๖๐๐ บาท อายุ ๗๐-๗๙ ปี จะได้รับ ๗๐๐ บาท อายุ ๘๐-๘๙ ปี จะได้รับ ๘๐๐ บาท และอายุ ๙๐ ปีขึ้นไป จะได้รับ ๑,๐๐๐ บาท
๑.๘.๔ ให้มีมาตรการภาษีเพื่อลดภาระการลงทุนสำหรับสิ่งจำเป็นในชีวิตของประชาชนทั่วไป ได้แก่ บ้านหลังแรกและรถยนต์คันแรก
นโยบายข้อ 1.8 ถือเป็น ประชานิยมชุดใหญ่ที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ในช่วงการเลือกตั้ง ตั้งแต่การพักหนี้เกษตรกร เรื่องค่าแรงขั้นต่ำและเงินเดือนปริญญาตรี เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และการลดภาษีบ้านหลังแรก-รถคันแรก
นโยบายเหล่านี้เป็นที่ถกเถียงในสังคมมาเยอะแล้ว (โดยเฉพาะนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท) คำถามก็เป็นประเด็นเดิมว่า สุดท้ายรัฐบาลจะหาเงินที่ไหนมาใช้จ่ายในนโยบายเหล่านี้
หมายเหตุ อ่านเรื่องค่าแรงขั้นต่ำในบทความเก่าของ SIU ประกอบ
๑.๙ ปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้เหลือร้อยละ ๒๓ ในปีพ.ศ. ๒๕๕๕ และลดลงเหลือร้อยละ ๒๐ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๖ เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน ขยายฐานภาษี และรองรับการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. ๒๕๕๘
ประเด็นเรื่องภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยพูดควบคู่กับนโยบายขึ้นค่าแรงอยู่เสมอ ในภาพรวมเราเห็นด้วยว่าควรลดภาษีเงินได้นิติบุคคล เพื่อส่งเสริมภาคธุรกิจทั้งในไทยและนักลงทุนจากต่างประเทศ เพียงแต่ก็ยังกังขาว่าเงินรายได้แผ่นดินที่จะมาจากภาคธุรกิจขยายตัว จะช่วยชดเชยหายได้จากการลดอัตราภาษีหรือไม่
๑.๑๐ ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุน สนับสนุนสินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย รวมถึงเพิ่มสวัสดิการของรัฐเพื่อเป็นการดูแลสังคมในชุมชน จัดหาแหล่งเงินทุนให้แก่ผู้ประกอบการและประชาชน โดย
๑.๑๐.๑ เพิ่มเงินทุนกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองอีกแห่งละ ๑ ล้านบาท
๑.๑๐.๒ จัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี โดยมีวงเงินเฉลี่ยจังหวัดละ ๑๐๐ ล้านบาท
๑.๑๐.๓ จัดตั้งกองทุนตั้งตัวได้ในวงเงินประมาณ ๑,๐๐๐ ล้านบาท ต่อสถาบันอุดมศึกษาที่ร่วมโครงการ สนับสนุนการสร้างผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อให้สามารถกู้ยืมเพื่อการสร้างอาชีพ ผนวกกับกลไกของ หน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถานศึกษาโดยมุ่งให้เกิดวิสาหกิจนวัตกรรมใหม่ที่จะเป็นกลไกใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
๑.๑๐.๔ จัดสรรงบประมาณเข้ากองทุนพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชน (SML) ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นจำนวนเงิน ๓๐๐,๐๐๐ ๔๐๐,๐๐๐ และ ๕๐๐,๐๐๐ บาทตามลำดับขนาดของหมู่บ้าน เพื่อให้หมู่บ้านบริหารจัดการกองทุนเพื่อการพัฒนาชุมชนด้วยตนเอง
นโยบายชุด 1.10 เป็นการต่อยอดนโยบายกองทุนของพรรคไทยรักไทยเดิม เราจะเห็นการเพิ่มเงินเข้ากองทุนหมู่บ้าน และกองทุน SML ที่มีอยู่แล้ว แต่นอกจากนี้เราจะยังเห็นของใหม่อย่าง กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีและ กองทุนตั้งตัวได้ที่เพิ่มเข้ามาอีก (กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีถือว่าน่าสนใจ แต่ยังมีรายละเอียดไม่มากนัก)
๑.๑๑ ยกระดับราคาสินค้าเกษตรและให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยดูแลราคาสินค้าเกษตรให้มีเสถียรภาพที่เหมาะสม คำนึงถึงกลไกราคาตลาดโลก โดยใช้วิธีบริหารจัดการทางการตลาดและกลไกตลาดซื้อขายล่วงหน้า รวมทั้งผลักดันให้เกษตรกรสามารถขายสินค้าเกษตรได้ในราคาสูงเพียงพอเมื่อเทียบกับต้นทุน และนำระบบรับจำนำสินค้าเกษตรมาใช้ในการสร้างความมั่นคงด้านรายได้ให้แก่เกษตรกร เริ่มต้นจากการรับจำนำข้าวเปลือกเจ้าและข้าวเปลือกหอมมะลิ ความชื้นไม่เกินร้อยละ ๑๕ ที่ราคาเกวียนละ ๑๕,๐๐๐ บาท และ ๒๐,๐๐๐ บาทตามลำดับ พร้อมทั้งจัดให้มีการเยียวยาความเสียหายของพืชผลจากภัยธรรมชาติให้แก่เกษตรกร การจัดทำระบบทะเบียนครัวเรือนเกษตรกรให้สมบูรณ์ และการออกบัตรเครดิตสำหรับเกษตรกร
นโยบายข้อ 1.11 เป็นนโยบายภาคการเกษตรระยะสั้นตามที่หาเสียงเอาไว้ จุดที่น่าสนใจคือการฟื้นระบบจำนำข้าวมาใช้ เปลี่ยนไปจากนโยบายประกันรายได้เกษตรกรของพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้ง
จากการศึกษานโยบายของ SIU นโยบายประกันรายได้-จำนำข้าวต่างก็มีข้อดีข้อเสียต่างกันไป ทั้งในเรื่องแนวคิดและการลงมือปฎิบัติจริง และมีกลุ่มผู้ได้-เสียประโยชน์ที่แตกต่างกัน จึงยังฟันธงได้ยากว่านโยบายไหนเหมาะสมกับภาคการเกษตรของไทยกันแน่
ส่วนนโยบายอีกข้อที่ถูกพูดถึงอย่างมากคือบัตรเครดิตเกษตรกร ซึ่งเป็นนโยบายหลักข้อหนึ่งของพรรคเพื่อไทย ก็ถูกบรรจุอยู่ในคำแถลงนโยบายด้วยเช่นกัน
๑.๑๒ เร่งเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศโดยประกาศให้ปี พ.ศ. ๒๕๕๔-๒๕๕๕ เป็นปีมหัศจรรย์ไทยแลนด์” (“Miracle Thailand” Year) และประชาสัมพันธ์เชิญชวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าร่วมเฉลิมฉลองในพระราชพิธีมหามงคลที่จะมีขึ้นในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๕๔-๒๕๕๕
นโยบายด้านการท่องเที่ยวถือว่าน่าสนใจ เพราะพรรคเพื่อไทยแทบไม่เคยพูดถึงในช่วงการหาเสียงเลย และคำว่า มหัศจรรย์ไทยแลนด์เป็นคำใหม่ที่คนไทยเพิ่งเคยได้ยิน
แน่นอนว่าการส่งเสริมการท่องเที่ยวเป็นเรื่องที่ดี รวมถึงการใช้พระราชพิธีมหามงคลเป็นจุดดึงดูดความสนใจจากนานาชาติ แต่คำถามคือปี 2554 ค่อนมาเลยครึ่งปีแล้ว จะดำเนินนโยบายในส่วนของปีนี้ได้จริงหรือไม่ และ Miracle Thailand นั้นต่างจากปีท่องเที่ยวแบบเดิมๆ อย่าง Amazing Thailand มากน้อยแค่ไหน
๑.๑๖ เร่งรัดและผลักดันการปฏิรูปการเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง โดยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นอิสระยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อวางกลไกการใช้อำนาจอธิปไตยที่ยึดหลักนิติธรรม และองค์กรที่ใช้อำนาจรัฐที่มีความรับผิดชอบต่อประชาชนและพร้อมรับการตรวจสอบ ทั้งนี้ ให้ประชาชนเห็นชอบผ่านการออกเสียงประชามติ
นโยบายเร่งด่วนข้อสุดท้าย 1.16 เป็นเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ระบุชัดว่าจะมี สภาร่างรัฐธรรมนูญ” (หรือ สสร.3) อีกครั้งในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งหมด และการเห็นชอบผ่านประชามติ จากเดิมที่มีข่าวว่าอาจจะใช้รัฐธรรมนูญ 40 เป็นแกนหลักและใช้กระบวนการทางรัฐสภาตามปกติ
2) นโยบายความมั่นคงแห่งรัฐ
ส่วนของนโยบายระยะยาวเริ่มต้นที่ข้อที่ 2 เรื่องนโยบายความมั่นคงของประเทศ นโยบายที่น่าสนใจได้แก่
๒.๓ พัฒนาและเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ ส่งเสริมให้กองทัพพัฒนาความสัมพันธ์ทางทหารกับมิตรประเทศ และมีความพร้อมในการปฏิบัติการเพื่อสันติภาพในกรอบสหประชาชาติ พัฒนาความสัมพันธ์ของหน่วยงานด้านความมั่นคงและกองทัพกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งจะแก้ไขปัญหาต่าง ๆ กับประเทศเพื่อนบ้านบนพื้นฐานของการสร้างบรรยากาศความไว้เนื้อเชื่อใจทั้งภาครัฐและภาคประชาชน ดำเนินการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนตามหลักฐานพื้นฐานของกฎหมายและสนธิสัญญาที่มีอยู่เพื่อมิให้เป็นเงื่อนไขของความขัดแย้ง รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อระงับยับยั้งและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติและยาเสพติดให้หมดไป
ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เราเห็นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับกองทัพในเรื่องแนวทางการแก้ปัญหาพรมแดนกับกัมพูชา ในนโยบายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้เน้นเรื่องนี้อย่างชัดเจน ในการสร้างมิตรภาพและความร่วมมือในระดับภูมิภาค นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องทำหลักเขตแดนด้วย
๒.๔ พัฒนาระบบการเตรียมพร้อมแห่งชาติ โดยเน้นการบริหารวิกฤตการณ์เพื่อรับมือภัยคุกคามด้านต่าง ๆ ทั้งที่เกิดจากภัยธรรมชาติและภัยที่มนุษย์สร้างขึ้นที่มากขึ้น โดยมุ่งระดมสรรพกำลังจากทุกภาคส่วนให้สามารถดำเนินงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกัน แก้ไข บรรเทา และฟื้นฟูความเสียหายของชาติที่เกิดจากภัยต่าง ๆ รวมถึงให้ความสำคัญในการเตรียมพร้อมเพื่อเผชิญกับปัญหาความมั่นคงในรูปแบบใหม่ในทุกด้าน ได้แก่ ด้านพลังงาน ด้านสิ่งแวดล้อม ความมั่นคงของมนุษย์ อาชญากรรมข้ามชาติ การก่อการร้าย และอุบัติภัย ทั้งนี้ เพื่อให้มีความพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของประเด็นปัญหาด้านความมั่นคงในยุคโลกาภิวัตน์
ประเด็นนี้น่าสนใจเพราะปัญหาเรื่องภัยธรรมชาติเริ่มปรากฏให้เห็นบ่อยครั้งมากขึ้น และถือเป็น ภัยคุกคามด้านความมั่นคงแบบใหม่ที่ไม่ใช่การทหาร” (Non-traditional Security Threats) ที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ การเตรียมความพร้อมสำหรับภัยพิบัติลักษณะนี้จึงเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
3) นโยบายเศรษฐกิจ
แบ่งเป็นข้อย่อยหลายข้อ เริ่มจาก
๓.๑ นโยบายเศรษฐกิจมหภาค
๓.๑.๑ ดำเนินการให้มีการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมให้แก่คนส่วนใหญ่ของประเทศ และให้เศรษฐกิจสามารถเจริญเติบโตในอัตราสูงอย่างมีเสถียรภาพ โดยดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่สนับสนุนการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม และก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน มีการจ้างงานเต็มที่ ระดับราคามีเสถียรภาพระมัดระวังความเสี่ยงจากความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ โดยการสร้างความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพของตลาดเงินและตลาดทุนในประเทศ รวมถึงการสร้างความร่วมมือในภูมิภาคเพื่อรองรับความผันผวนที่อาจเกิดขึ้น
นโยบายเรื่องนี้เป็นเรื่องคาบเกี่ยวระหว่างเศรษฐกิจและการเมือง เพราะเป็นที่ยอมรับกันว่า ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยที่สำคัญของปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นในรอบ 5 ปีหลัง
อย่างไรก็ตาม แนวทางการแก้ไขที่เขียนไว้ในข้อ 3.1.1 ยังเป็นนามธรรมอยู่มาก และต้องรอดูต่อไปว่าจะมีแผนปฏิบัติงานที่เป็นรูปธรรมมากน้อยแค่ไหน
๓.๑.๔ ปรับโครงสร้างภาษีอากรทั้งระบบเพื่อสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สร้างความเป็นธรรมในสังคม ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างฐานรายได้ภาษีที่ยั่งยืนในระยะยาว รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ทั้งจากภาษีและที่มิใช่ภาษี
ปัญหาเรื่องภาษีอากรเป็นอีกปัญหาที่เรื้อรังมานาน ทั้งเรื่องฐานภาษีและชนิดของภาษี ซึ่งในรัฐบาลอภิสิทธิ์ช่วงแรก นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเคยจุดประเด็นเรื่องภาษีที่ดินกับภาษีมรดก แต่สุดท้ายก็เงียบหายไป
๓.๑.๗ บริหารสินทรัพย์ของประเทศที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ทั้งสินทรัพย์ของภาครัฐ ตลอดจนทุนในท้องถิ่นที่รวมถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น วิถีชีวิต วัฒนธรรม รวมทั้งพิจารณาการจัดตั้งกองทุนที่สามารถใช้ในการบริหารสินทรัพย์ของชาติให้เป็นประโยชน์ เช่น กองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ กองทุนนํ้ามัน เชื้อเพลิงสำรองแห่งชาติ และกองทุนความมั่นคงทางอาหาร เป็นต้น
จุดที่น่าสนใจในข้อนี้คือ กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติหรือ Sovereign Wealth Fund (SWF) ซึ่งจะนำเงินทุนสำรองของประเทศไปลงทุนให้งอกเงยกว่าเดิม แนวคิดนี้พูดกันมานานแล้ว และมีหลายประเทศที่ประสบความสำเร็จ ตัวอย่างที่คนไทยคุ้นเคยกันดีคือกองทุนเทมาเส็ค ของสิงคโปร์ แต่ก็ยังมีกองทุนของประเทศอื่นๆ ที่ขนาดใหญ่กว่ามาก เช่น GIC กองทุนอีกกองของสิงคโปร์, ADIA ของอาบูดาบี, CIC ของรัฐบาลจีน เป็นต้น
หมายเหตุ: อ่านเรื่องกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ ในบทสัมภาษณ์ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล
๓.๓ นโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ
๓.๓.๑ ภาคเกษตรกรรม
๖) จัดทำระบบทะเบียนครัวเรือนเกษตรกรที่มีข้อมูลการเกษตรของครัวเรือนครบถ้วน สามารถเชื่อมโยงกับบัตรเครดิตสำหรับเกษตรกร และมีการปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอเพื่อความสะดวกในการสนับสนุนช่วยเหลือและพัฒนาเกษตรกร สร้างหลักประกันความมั่นคงในการประกอบอาชีพให้แก่เกษตรกร จัดให้มีอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้านเพื่อสนับสนุนการทำงานของภาครัฐ ตลอดจนจัดให้มีรายการโทรทัศน์เพื่อการเกษตรเพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการผลิตและการตลาดแก่เกษตรกรทั่วไป
ถึงแม้พรรคเพื่อไทยจะยกเลิกระบบประกันรายได้เกษตรกร และเปลี่ยนมาใช้ระบบจำนำข้าว แต่ชิ้นส่วนสำคัญอย่าง การทำทะเบียนครัวเรือนเกษตรกรที่เคยใช้ในระบบประกันรายได้เกษตรกรยังคงอยู่ ซึ่งระบบนี้ถือเป็นระบบสารสนเทศทางการเกษตรที่สำคัญ และช่วยให้ประเทศไทยสามารถวางแผนด้านเกษตรกรรมได้ละเอียดและแม่นยำมากขึ้นมาก
๓.๓.๒ ภาคอุตสาหกรรม
๖) พัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมแห่งใหม่ โดยพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมใหม่ในทุกภูมิภาคที่เหมาะสมเพื่อรองรับการลงทุนด้านอุตสาหกรรมที่ไม่ก่อมลพิษ และพัฒนาเส้นทางการขนส่งเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่อุตสาหกรรมดังกล่าวกับท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังและท่าเรือมาบตาพุด รวมทั้งการพัฒนาสะพานเศรษฐกิจระหว่างฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทยสำหรับรองรับอุตสาหกรรมที่ไม่ก่อมลพิษและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน
จุดที่น่าสนใจคือเรื่องการสร้างพื้นที่อุตสาหกรรมแห่งใหม่ นอกเหนือไปจาก Eastern Seaboard ที่เริ่มอิ่มตัวแล้ว และเรื่อง สะพานเศรษฐกิจที่เชื่อมระหว่างทะเลสองฝั่งของประเทศไทย
สิ่งที่น่าจับตาคือประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ และต้องรอดูว่าในทางปฏิบัติจริง จะไม่ก่อปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจริงๆ หรือ
๓.๓.๔ การตลาด การค้า และการลงทุน
๕) ส่งเสริมการขยายตลาดเชิงรุกเพื่อรักษาตลาดเดิมและสร้างตลาดใหม่เพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกไปตลาดหลัก โดยส่งเสริมการส่งออกสินค้าและบริการในตลาดใหม่ ได้แก่ จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรปตะวันออก พร้อมทั้งรักษาส่วนแบ่งในตลาดหลักไม่ให้ลดลง ตลอดจนการเตรียมความพร้อมในเชิงของทักษะเทคโนโลยี และวิทยาการที่จำเป็นในการแข่งขันระดับโลกเพื่อการขยายตัวอย่างยั่งยืนของประเทศในอนาคต และเป็นการส่งเสริมให้สินค้าและบริการของไทยเป็นที่รู้จักและยอมรับอย่างแพร่หลายจากผู้บริโภคในประเทศต่าง ๆ
ประเด็นนี้จะสอดคล้องกับ ปัญหาภาพกว้างข้อ 1 ที่รัฐบาลมองว่าเศรษฐกิจของไทยพึ่งพิงกับการส่งออกมาก และยังเป็นการส่งออกไปยังประเทศพัฒนาแล้วจำนวนหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นการขยายไปยังตลาดใหม่ๆ เพื่อลดภาวะการพึ่งพิงตลาดเดิมจึงเป็นเรื่องสำคัญต่อประเทศไทยมาก
น่าสนใจว่าการระบุชื่อตลาดใหม่ 5 พื้นที่คือ จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรปตะวันออกมีฐานคิดอย่างไรในการเลือกประเทศเหล่านี้ ซึ่งในเอกสารไม่ได้ระบุเหตุผลเอาไว้
๓.๔ นโยบายโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาระบบรางเพื่อขนส่งมวลชน และการบริหารจัดการระบบขนส่งสินค้าและบริการ
๓.๔.๔ พัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางราง โดยเชื่อมโยงโครงข่ายและการบริหารจัดการขนส่งผู้โดยสาร และสินค้าและบริการที่สะดวกและปลอดภัยทั้งในพื้นที่ชนบท พื้นที่เมือง และระหว่างประเทศ รวมทั้งสนับสนุนการขยายฐานการผลิตตามแนวเส้นทางรถไฟ
๑) พัฒนาระบบรถไฟทางคู่เชื่อมชานเมืองและหัวเมืองหลักในเส้นทางที่มีความสำคัญ
๒) ศึกษาและพัฒนารถไฟความเร็วสูงสาย กรุงเทพฯเชียงใหม่ กรุงเทพฯนครราชสีมา กรุงเทพฯหัวหิน และเส้นทางอื่นเพื่อเตรียมการเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน
๓) ศึกษาและพัฒนาขยายทางรถไฟสายแอร์พอร์ตเรลลิงค์ ต่อจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไปยังชลบุรีและพัทยา
การขนส่งระบบรางเป็นปัญหาเรื้อรังของประเทศไทยมาโดยตลอด และทำให้ต้นทุนในการขนส่งสินค้าของไทยมีราคาแพงมาก ประเด็นเรื่องการขนส่งระบบรางนี้เคยถูกพูดไว้ในสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช แต่มีปัญหาเรื่องการเมืองจนไม่สามารถดำเนินการได้
สิ่งที่น่าสนใจคือการระบุเส้นทางรถไฟความเร็วสูง 3 สายใน 3 ภาค และการขยายแอร์พอร์ตเรลลิงก์ไปยังพัทยา เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในภาคตะวันออกด้วย
๓.๕ นโยบายพลังงาน
๓.๕.๓ กำกับราคาพลังงานให้มีราคาเหมาะสม เป็นธรรมและมุ่งสู่การสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง โดยปรับบทบาทกองทุนน้ำมันให้เป็นกองทุนสำหรับรักษาเสถียรภาพราคา ส่วนการชดเชยราคานั้นจะดำเนินการอุดหนุนเฉพาะกลุ่ม ส่งเสริมให้มีการใช้ก๊าซธรรมชาติมากขึ้นในภาคขนส่ง และส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล์และไบโอดีเซลในภาคครัวเรือน
นโยบายการดูแลราคาน้ำมันนั้นต่างไปจากรัฐบาลก่อนๆ และนี่อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้าพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ไม่ได้นั่งเก้าอี้ รมว. พลังงาน ต่อเป็นสมัยที่สาม
๓.๖ นโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศ
๓.๖.๒ ส่งเสริมการเข้าถึงการใช้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสาธารณะที่มีการใช้งานตามความเหมาะสมโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ผลักดันให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ใช้กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ จัดให้มีบริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตตามมาตรฐานการให้บริการในพื้นที่สาธารณะ สถานที่ราชการ และสถานศึกษาที่กำหนดโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย หรือกำหนดเป็นเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการจัดให้บริการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึง
นโยบายนี้อธิบายง่ายๆ คือ Wi-Fi สาธารณะ ในสถานที่ราชการ และสถานศึกษา ซึ่งมีบางประเทศหรือบางเมืองใหญ่ของโลกประสบความสำเร็จมาแล้ว เช่น สิงคโปร์ที่ให้บริการ Wi-Fi ขั้นพื้นฐานฟรีทั้งเกาะ
จุดที่น่าสนใจคือแหล่งที่มาของเงินทุนจะเป็นกองทุนวิจัยและพัฒนาของ กสทช. ที่หักจากเงินค่าธรรมเนียมของผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่ขอใบอนุญาต เงินส่วนนี้ไม่ใช่เงินของรัฐบาลโดยตรง จึงน่าติดตามว่ารัฐบาลจะได้รับความร่วมมือจาก กสทช. หรือไม่
4) นโยบายสังคมและคุณภาพชีวิต
แบ่งเป็นหลายข้อย่อยเช่นกัน
๔.๑ นโยบายการศึกษา
๔.๑.๒ สร้างโอกาสทางการศึกษา กระจายโอกาสทางการศึกษาในสังคมไทย โดยคำนึงถึงการสร้างความเสมอภาคและความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นแก่ประชากรทุกกลุ่ม ซึ่งรวมถึงผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ ผู้บกพร่องทางกายและการเรียนรู้ รวมทั้ง ชนกลุ่มน้อย โดยส่งเสริมการให้ความรู้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาถึงแรกเกิดให้ได้รับการดูแลอย่างมีประสิทธิภาพทั้งแม่และเด็ก สนับสนุนการจัดการศึกษาตามวัยและพัฒนาการอย่างมีคุณภาพตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยจัดให้มีการเทียบโอนวุฒิการศึกษาสำหรับกลุ่มที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่น กลุ่มแม่บ้าน จัดให้มีระบบสะสมผลการศึกษาและการเทียบโอนเพื่อขยายโอกาสให้กว้างขวางและลดปัญหาคนออกจากระบบการศึกษา
นอกจากนี้ จะดำเนินการลดข้อจำกัดของการเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษาชั้นสูง โดยจัดให้มีโครงการเงินกู้เพื่อการศึกษาที่ผูกพันกับรายได้ในอนาคต” โดยให้ผู้กู้เริ่มใช้คืนต่อเมื่อมีรายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงตัวได้ พักชำระหนี้แก่ผู้เป็นหนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา โดยปรับเปลี่ยนการชำระหนี้เป็นระบบที่ผูกพันกับรายได้ในอนาคต ปรับปรุงระบบการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อทุกระดับให้เอื้อต่อการกระจายโอกาส โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะจัดให้มีระบบคัดเลือกกลางเพื่อเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม ดำเนิน “โครงการ ๑ อำเภอ ๑ ทุน” เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กไทยได้ไปเรียนต่อต่างประเทศ จัดการศึกษาชุมชนเพื่อมุ่งให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้และการศึกษาตลอดชีวิต
ประเด็นนี้เขียนมาค่อนข้างยาว สามารถแยกส่วนที่น่าสนใจได้ดังนี้
  • การส่งเสริมการศึกษานอกระบบ โดยให้เทียบโอนวุฒิได้
  • การปรับปรุงกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • การฟื้นโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ในสมัยรัฐบาลทักษิณกลับมาอีกครั้ง
๔.๑.๕ เร่งพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาให้ทัดเทียมกับนานาชาติ โดยใช้เป็นเครื่องมือในการเร่งยกระดับคุณภาพและการกระจายโอกาสทางการศึกษา จัดให้มีระบบการเรียนแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติเพื่อเป็นกลไกในการเปลี่ยนกระบวนทัศน์การเรียนรู้ให้เป็นแบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลางและเอื้อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาเครือข่ายสารสนเทศเพื่อการศึกษา พัฒนาระบบ “ไซเบอร์โฮม” ที่สามารถส่งความรู้มายังผู้เรียนโดยระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ส่งเสริมให้นักเรียนทุกระดับชั้นได้ใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตเพื่อการศึกษา ขยายระบบโทรทัศน์เพื่อการศึกษาให้กว้างขวาง ปรับปรุงห้องเรียนนำร่องให้ได้มาตรฐานห้องเรียนอิเล็กทรอนิกส์รวมทั้งเร่งดำเนินการให้ กองทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาสามารถดำเนินการตามภารกิจได้
นโยบายด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ประเด็นหลักคงอยู่ที่แท็บเล็ตเพื่อการศึกษา แต่ก็ยังมีเรื่องเครือข่ายการเรียนรู้ภายในบ้านหรือ ไซเบอร์โฮมเพิ่มเข้ามาด้วย
๔.๒ นโยบายแรงงาน
๔.๒.๖ เตรียมการรองรับการเปิดการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีภายใต้ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ โดยเน้นระบบบริหารจัดการเพื่อจัดระเบียบแรงงานข้ามชาติ จัดระบบอำนวยความสะดวก และมาตรการการกำกับดูแล ติดตามการเข้าออกของแรงงานทุกประเภทเพื่อดึงดูดแรงงานที่มีฝีมือเข้าประเทศควบคู่กับการป้องกันผลกระทบจากการเข้าประเทศของแรงงานไร้ฝีมือ
ประเด็นที่น่าสนใจคงเป็นเรื่องการรองรับแรงงานจากการเปิดเสรีประชาคมอาเซียน ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาแรงงานข้ามชาติตามมาอีกมาก
๔.๓ นโยบายสุขภาพ
๔.๓.๗ ขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นเลิศในผลิตภัณฑ์และการบริการด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาลในภูมิภาคเอเชีย โดยประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการสร้างความก้าวหน้าในทางวิชาการ และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับบริการสุขภาพโดยรวมของคนไทย สนับสนุนเอกชนให้จัดบริการศูนย์พักฟื้นผู้ป่วยที่มีมาตรฐาน รวมทั้งแก้ไขปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการใช้บุคลากรทางการแพทย์ร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนให้เอื้ออำนวยต่อการดำเนินงาน
นโยบายสุขภาพในภาพรวมคงไม่ต่างอะไรจากระบบในปัจจุบัน โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่แบบเดียวกับกรณี 30 บาทรักษาทุกโรคอีก แต่จะมีเรื่องการดันผู้ประกอบการด้านสุขภาพไทยซึ่งมีชื่อเสียงระดับโลก ให้เป็น “medical hub” ของเอเชีย
5) นโยบายที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
๕.๔ สร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในการใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ โดยการปฏิรูปการจัดการที่ดินโดยให้มีการกระจายสิทธิที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืนโดยใช้มาตรการทางภาษีและจัดตั้งธนาคารที่ดินให้แก่คนจนและเกษตรกรรายย่อย พิจารณาให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ที่ดินทิ้งร้างทางราชการ ปกป้องที่สาธารณประโยชน์ ที่ดินทุ่งเลี้ยงสัตว์ ห้ามการปิดกั้นชายหาดสาธารณะ ผลักดันกฎหมายในการรับรองสิทธิของชุมชนในการจัดการทรัพยากร ที่ดิน น้ำ ป่าไม้ และทะเล ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แก้ไขปัญหาการดำเนินคดีโลกร้อนกับคนจน
ปัญหาเรื่องที่ดินเป็นเรื่องที่ลักลั่นย้อนแย้งของสังคมไทย เพราะผู้ที่ถือครองที่ดินจำนวนมากคือนักการเมืองทั้งระดับ ส.ส. และ ส.ว. ด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้นน่าติดตามว่าในรัฐบาลนี้จะสามารถแก้ปัญหากระจายที่ดินได้มากน้อยแค่ไหน หรือจะเป็นเพียงแค่นโยบายสวยหรูอย่างที่แล้วๆ มา
๕.๗ สร้างภูมิคุ้มกันและเตรียมความพร้อมในการรองรับและปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและพิบัติภัยธรรมชาติ โดยการพัฒนาองค์ความรู้และระบบฐานข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพิ่มขีดความสามารถในการพยากรณ์และคาดการณ์ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยธรรมชาติในระดับประเทศและระดับพื้นที่ จัดทำยุทธศาสตร์รองรับพิบัติภัยระยะยาว ส่งเสริมและเร่งรัดการเตือนภัย และการเตรียมความพร้อมในการรับมือความแปรปรวนในปัจจุบัน เพื่อให้เป็นฐานกับการรับมือความเปลี่ยนแปลงในระยะยาว ป้องกันภัยพิบัติโดยเฉพาะน้ำท่วม สึนามิ แผ่นดินไหว และดินถล่ม สร้างกลไกส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลระดับชุมชน ท้องถิ่น เพิ่มขีดความสามารถในระดับชุมชนให้เข้มแข็งพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติต่าง ๆ ดำเนินการศึกษาอย่างรอบคอบในเรื่องของความจำเป็นของโครงการพัฒนาเขื่อนและเกาะเพื่อป้องกันกรุงเทพฯ และภาคกลางให้ปลอดภัยจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล และจากการละลายของน้ำแข็งขั้วโลกตามสภาวะโลกร้อนที่กำลังเกิดขึ้น
ประเด็นสำคัญที่แอบแทรกอยู่ในนโยบายข้อนี้คือเรื่องเขื่อนกั้นน้ำทะเลที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งพรรคเพื่อไทยพูดไว้ตอนหาเสียงเลือกตั้ง แต่กลับได้รับเสียงคัดค้านไม่น้อยจาก NGO ด้านสิ่งแวดล้อม สังเกตว่าในนโยบายจะเขียนไว้แค่ ดำเนินการศึกษาเท่านั้น
6) นโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรม
นโยบายด้านวิทยาศาสตร์และการวิจัยเป็นสิ่งที่พูดกันมานานแล้วอีกเช่นกัน แต่ประเทศไทยยังประสบปัญหาในการพัฒนาเทคโนโลยีไม่เปลี่ยนแปลง
นโยบายในด้านนี้ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังไม่โดดเด่นนัก และยังเป็นนามธรรมสูง มีข้อที่น่าพูดถึงเพียงข้อเดียวคือ 6.5 ที่เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ (GIS) มาใช้งาน
๖.๕ ส่งเสริมการใช้ข้อมูลเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การวางแผนการผลิตด้านการเกษตร การป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ ยกระดับคุณภาพชีวิต และเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
7) นโยบายการต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
นโยบายเรื่องต่างประเทศเป็นสิ่งที่น่าจับตามอง เพราะปัจจัยทั้งจากความสัมพันธ์กับกัมพูชา และเส้นตายการรวมประชาคมอาเซียน 2015 ที่ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ
๗.๑ เร่งส่งเสริมและพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน โดยส่งเสริมความร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน และสื่อมวลชน เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจอันดีและความใกล้ชิดระหว่างกัน อันจะนำไปสู่การขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การส่งเสริมการท่องเที่ยว การขยายการคมนาคมขนส่ง และความร่วมมือด้านอื่น ๆ ภายใต้กรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคเพื่อส่งเสริมความเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน
๗.๒ สร้างความสามัคคีและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการจัดตั้งประชาคมอาเซียนและส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชียภายใต้กรอบความร่วมมือด้านต่าง ๆ และเตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วนในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และความมั่นคง
จะเห็นว่าในนโยบายรัฐบาลได้ยกเรื่องประเทศเพื่อนบ้านและเรื่องอาเซียนไว้เป็นสองข้อแรก ต้องรอดูว่ากระทรวงการต่างประเทศในยุคของรัฐมนตรีสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ที่ถูกมองว่าเป็น รูรั่วของรัฐบาลนี้ จะตอบสนองนโยบายได้มากน้อยเพียงใด
๗.๘ ใช้ประโยชน์จากโครงข่ายคมนาคมขนส่งในภูมิภาคอาเซียนและอนุภูมิภาคให้เป็นประโยชน์ต่อการขยายฐานเศรษฐกิจทั้งการผลิตและการลงทุน โดยให้ความสำคัญในการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดที่อยู่ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจและเมืองชายแดน
ประเด็นเรื่องเส้นทางคมนาคมในภูมิภาค ถือเป็นเส้นเลือดทางเศรษฐกิจสำคัญในอนาคตอันใกล้ น่าสนใจว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้
8) นโยบายการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
นโยบายข้อสุดท้ายพูดถึงการขับเคลื่อนนโยบายทั้งหมดที่ว่ามา ผ่านการบริหารราชการแผ่นดินด้วยกลไกลภาครัฐต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยราชการ หรือองค์กรอื่นๆ อย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส
๘.๑ ประสิทธิภาพการบริหารราชการแผ่นดิน
๘.๑.๖ สนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีระบบที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และสามารถให้บริการสาธารณะตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ตามความคาดหวัง รวมทั้งส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลาย ๆ แห่งร่วมกันจัดบริการสาธารณะบางอย่าง ซึ่งโดยสภาพหรือเพื่อประสิทธิภาพ ควรที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นต้องร่วมกันทำ โดยคำนึงถึงความจำเป็นและความเหมาะสมตามศักยภาพของท้องถิ่น ให้มีการเชื่อมโยงและบูรณาการภารกิจกับแผนชุมชนและแผนระดับต่าง ๆ ในพื้นที่ เพื่อเป็นฐานสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาประชาธิปไตยในท้องถิ่นให้เข้มแข็ง ปรับปรุงการจัดระบบความสัมพันธ์ของราชการบริหารส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นให้มีความเหมาะสม ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการงบประมาณและบุคลากรของท้องถิ่น ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้ที่เหมาะสม และมีระบบบริหารงานบุคคลที่มีประสิทธิภาพพร้อมรองรับภารกิจและให้บริการที่ดีแก่ประชาชน ตลอดจนเสนอกฎหมายเกี่ยวกับการสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามที่บัญญัติเป็นหลักการไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวด ๑๔ การปกครองส่วนท้องถิ่น
ประเด็นที่น่าสนใจจุดแรกคือเชื่อมโยงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายๆ แห่ง เพื่อบริหารจัดงานโครงการขนาดใหญ่ ที่องค์กรเพียงแห่งเดียวไม่สามารถจัดการได้ (ทำให้จำเป็นต้องพึ่งพิงส่วนกลางมาตลอด) แนวทางนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่การกระจายอำนาจส่วนท้องถิ่นที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น
๘.๒ กฎหมายและการยุติธรรม
๘.๒.๑ ปฏิรูประบบกฎหมายและพัฒนากระบวนการยุติธรรมทั้งระบบให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงและสอดคล้องกับหลักนิติธรรม เร่งรัดจัดตั้งองค์กรเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่ดำเนินการโดยอิสระตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ รวมถึงสนับสนุนคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายและองค์กรเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้สามารถดำเนินการตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญได้อย่างเป็นรูปธรรม
ปัญหาเรื่องกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมหรือล้าสมัย แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนในปัญหาทางการเมืองรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมา การมีนโยบายปฏิรูปกฎหมายเป็นสิ่งที่น่ายินดี แต่ก็ต้องจับตาดูไม่ให้เป็นกระบวนการตามระบบราชการทั่วไป
บทสรุป: อนาคตประเทศไทยในกำมือยิ่งลักษณ์
ในการปราศรัยหาเสียงใหญ่ครั้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง 3 ก.ค. พรรคการเมืองใหญ่ทั้งสองพรรคเลือกนำเสนอหัวข้อการปราศรัยแสดง วิสัยทัศน์ที่แตกต่างกันไป
พรรคประชาธิปัตย์ใช้หัวข้อว่า  อนาคตประเทศไทย ใต้ฟ้าเดียวกัน” ส่วนพรรคเพื่อไทยใช้หัวข้อ อนาคตประเทศไทย 2020″
ตอนนี้เราทราบกันดีแล้วว่า พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง และจัดตั้งรัฐบาลได้ ดังนั้นวิสัยทัศน์ อนาคตประเทศไทย 2020″ จะเป็นเป้าหมายในการดำเนินงานของรัฐบาลนี้ อย่างน้อยก็ในช่วงของอายุรัฐบาล
คุณยิ่งลักษณ์ได้นำเสนอแผนอนาคตประเทศไทย 20 ข้อสำหรับเป้าหมายปี 2020 ดังนี้ (ต้นฉบับจากมติชน)
  1. รายได้ประชาชาติของไทย จะอยู่ที่ไม่น้อยกว่า 800,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยคนไทยทั้งหมดจะมีรายได้เหนือเส้นความยากจน คนไทยทุกครอบครัวจะมีบ้านของตนเอง เกษตรกรทุกคนจะมีที่ทำกินเป็นของตนเอง
  2. คนไทยจะมีค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 1,000 บาท และเงินเดือนผู้จบปริญญาตรีขั้นเริ่มต้นที่ 30,000 บาท/เดือน
  3. คนไทยจะมีสุขภาพดีถ้วนหน้าและปลอดยาเสพติด รับประทานอาหารปลอดภัย มีสถานพยาบาลที่ทันสมัย และที่ออกกำลังกายทั่วประเทศ
  4. เยาวชนไทยจะมีการศึกษาทั่วถึงทันโลก พรั่งพร้อมด้วยคุณธรรม และจริยธรรม
  5. ไทยจะมีจำนวนผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันเป็น 2 เท่า
  6. การคมนาคมขนส่งในกรุงเทพฯ จะสะดวกยิ่งขึ้น เพราะรถไฟฟ้าจะเสร็จทั้ง 10 สาย มีการสร้างเมืองใหม่ และที่อยู่อาศัยออกไปตามเส้นทางรถไฟฟ้า
  7. การคมนาคมขนส่งระบบราง จะครอบคลุมทั้งประเทศ มีทั้งรถไฟความเร็วสูงเชื่อมเมืองสำคัญ รถไฟรางคู่ และระบบขนส่งเชื่อมโยงทุกพื้นที่ทั่วประเทศ จะทำให้ค่าขนส่งสินค้า (Logistic Cost) ของไทยลดลงจากปัจจุบัน 25%
  8. จะมีการปรับโครงสร้างการใช้พลังงาน โดยการเพิ่มสัดส่วนของพลังงานสีเขียวเพิ่มขึ้นเป็น 25% ของพลังงานจากฟอสซิล
  9. ประเทศไทยจะเป็นประเทศอันดับต้นๆ ของเอเชีย ในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) จะทำให้เด็กไทยเข้าถึงข้อมูลทั่วโลกได้ พร้อมทั้งระบบการเรียนการสอนจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ ทุกตำบลจะเป็นตำบลดิจิตอล
  10. ไทยจะมีเมืองใหม่ ที่มีการวางผังเมืองมาตรฐานโลก พร้อมเขื่อนกั้นน้ำทะเลและระบบป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ
  11. จะเกิดเมืองหลวงภูมิภาคขึ้นหลายแห่ง เนื่องมาจากการกระจายความเจริญ กระจายงบประมาณ กระจายรายได้ กระจายความมั่งคั่งสู่ภูมิภาค
  12. ไทยต้องมีบทบาทนำในเวทีโลก คนไทยไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ฐานะใด อาชีพใด ต้องอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ มีความภูมิใจในความเป็นไทย
  13. ดัชนีการคอรัปชั่นที่ประเมินโดยต่างประเทศจะดีขึ้นกว่าปัจจุบัน ไม่น้อยกว่า 75 %
  14. กระบวนการใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม (Rule of Law) จะเป็นมาตรฐานสากล อันจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือ และไว้วางใจจากนานาประเทศ ซึ่งจะมีผลดีต่อการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ
  15. ไทยจะเป็นศูนย์กลางการบินของเอเชีย จะมีนักท่องเที่ยวเป็น 30 ล้านคนต่อปี สนามบินทั้งดอนเมือง และอู่ตะเภา จะถูกนำมาใช้เป็นสนามบินสากล
  16. ไทยจะเป็นศูนย์กลางการเงิน และการพลังงานของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  17. ไทยจะเป็นศูนย์กลางทางด้านสุขภาพของเอเชีย
  18. ไทยจะเป็นศูนย์ผลิตอาหารเลี้ยงโลก ครัวไทย สู่ครัวโลกด้วยอาหารคุณภาพ (From Farm to Table)
  19. สินค้าไทยจะเป็นสินค้าที่ทำรายได้จากการสร้างมูลค่า (Value Creation) มากกว่าการขายเพียงวัตถุดิบหรือรับจ้างทำของ
  20. ไทยจะเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาโลก แต่เคารพเสรีภาพในการนับถือศาสนาของคนไทย
วันนี้พรรคเพื่อไทยได้อำนาจรัฐอย่างถูกต้องตามหลักประชาธิปไตยแล้ว และมีอำนาจเต็มในการบริหารราชการแผ่นดินแล้ว
ส่วนการทำตามเป้าหมาย 20 ข้อตามวิสัยทัศน์ หรือ 3 ข้อตามนโยบายที่แถลงต่อสภานั้นจะทำได้จริงแค่ไหน จะสำเร็จหรือล้มเหลว ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในมือของรัฐบาลยิ่งลักษณ์แล้ว


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น