วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ศักดิ์ของกฎหมาย

      การจัดลำดับศักดิ์ของกฎหมาย 
โดย ชำนาญ จันทร์เรือง 
       1. การออกกฎหมายที่มีศักดิ์ของกฎหมายต่ำกว่าจะออกได้โดยอาศัยอำนาจจากกฎหมายที่มีศักดิ์ของกฎหมายสูงกว่า หรือกฎหมายที่มีศักดิ์ของกฎหมายสูงกว่าได้ให้อำนาจไว้ เช่น รัฐธรรมนูญให้อำนาจรัฐสภาในการออกพระราชบัญญัติ ซึ่งก็เท่ากับว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่บท ส่วนพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนดเป็นกฎหมายลูกบท
       2. กฎหมายที่มีศักดิ์ต่ำกว่าซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจของกฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่าจะมีเนื้อหาที่เกินขอบเขตอำนาจที่กฎหมายที่มีศักดิ์กฎหมายสูงกว่าให้ไว้ไม่ได้ มิฉะนั้น จะไม่มีผลบังคับใช้
       3. หากเนื้อหาของกฎหมายมีการขัดหรือแย้งกัน จะต้องใช้กฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่ามาใช้บังคับไม่ว่ากฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่าจะออกเป็นกฎหมายก่อนหรือหลังกฎหมายที่มีศักดิ์ต่ำกว่า
       ในส่วนของกฎหมายไทยที่เป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรแต่ละฉบับจะมีศักดิ์ของกฎหมายหรือ ลำดับชั้นของกฎหมายที่แตกต่างกัน โดยมีกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดและเป็นกฎหมายแม่บทของกฎหมายทั้งหมด พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด เป็นกฎหมายลูกของกฎหมายรัฐธรรมนูญ
       ส่วนพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง กฎหมายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น เทศบัญญัติ ข้อบัญญัติจังหวัด ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เหล่านี้เป็นกฎหมายที่อาศัยพระราชบัญญัติในการออกเป็นกฎหมาย
       เมื่อเป็นเช่นนี้ การจัดลำดับศักดิ์ของกฎหมายไทยจึงเรียงลำดับได้ดังต่อไปนี้
       1) รัฐธรรมนูญ
       2) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด ประมวลกฎหมาย
       3) พระราชกฤษฎีกา
       4) กฎกระทรวง
       5) กฎหมายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

1 ความคิดเห็น:

  1. ถ้ายกเลิก รธน.2540 ด้วยวิธีรัฐประหาร
    ดังนั้นประชามติย่อมยกเลิก รธน.2550 ได้เช่นกัน

    เพราะอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน หากยอมให้อำนาจรัฐประหารยกเลิกประชามติได้ ประชามติย่อมยกเลิก กฎเกณฑ์ใด ๆ อันเกิดจากรัฐประหารได้เช่นกัน

    ตอบลบ