วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2554

ข้อโต้แย้งจากนักศึกษากฎหมาย ถึงนักวิชาการรุ่นใหญ่ กรณีข้อเสนอนิติราษฎร์

http://www.prachatai3.info/journal/2011/09/37107

Tue, 2011-09-27 23:00

พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล

ชื่อบทความเดิม:
บทวิพากษ์ ข้อโต้แย้งของนายกิตติศักดิ์ ปรกติ และนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ : กรณีข้อเสนอนิติราษฎร์ (สังเขป)

จากบทความที่กิตติศักดิ์ เขียนบทความเผยทางเฟซบุค [ http://www.facebook.com/note.php?note_id=10150388167910979 ] เมื่ออ่านบทความดังกล่าว ผมพบว่า ประเด็นสำคัญ อยู่ที่ กิตติศักดิ์ สับสนระหว่าง 'อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ' (pouvoir constituant) กับ 'อำนาจนิติบัญญัติ' (pouvoir législatif) โดยนำมาปะปนกัน ทั้งๆ ที่เป็นคนละเรื่องโดยสภาพของอำนาจ ตาม 'ทฤษฎีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ' ซึ่งพูดถึงกันน้อยมากในวงวิชาการไทย
'อำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ' (pouvoir constituant dérivé) ไม่ใช่ 'อำนาจนิติบัญญัติ' เนื่องจาก 'อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ' เป็นอำนาจที่สถาปนาอำนาจขององค์กรอื่นๆภายในรัฐอีกทีถ่ายหนึ่ง (ทั้งนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ) หมายความต่อไปว่า
องค์กรผู้ใช้ 'อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญแบบแก้ไขเพิ่มเติม' ไม่ตกอยู่ในอาณัติหน้าที่ 'ในฐานะองค์กรเดิม' หรือ 'จากองค์กรอื่นของรัฐ' อีกต่อไป เพราะ ธรรมชาติของการ 'ใช้อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ' เกิดจากความว่างเปล่า ซึ่งผู้ทรงอำนาจชี้ขาดความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ก็มิใช่ ศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลดังนี้
๑. การแก้ไขเพิ่มเติมย่อมเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญอยู่แล้วโดยสภาพของภารกิจ
๒. ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรที่ถูกสถาปนาอำนาจขึ้นโดยฐานของรัฐธรรมนูญดั้งเดิม หากศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจะกลายเป็น 'องค์กรที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ' (autorité supra constitutionnelle), ศาลรัฐธรรมนูญจึงทำหน้าที่ตรวจสอบอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติเท่านั้น
๓. ในทางหลักการคงเข้าใจตรงกันนะครับว่า ศาลรัฐธรรมนูญมิได้เป็นองค์กรผู้ผูกขาดอำนาจในการตีความรัฐธรรมนูญ (มีเขตอำนาจเฉพาะ) คือ ตรวจสอบได้เฉพาะร่างพระราชบัญญัติ และไม่ใช่อำนาจศาลยุติธรรมด้วย เพราะศาลยุติธรรม อาศัยอำนาจสถาปนาขึ้นโดยอำนาจพระราชบัญญัติ ซึ่งมีสถานะต่ำกว่า 'อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ' ดังนั้น องค์กรชี้ขาดความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ก็คือ "องค์กรที่ได้รับอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญแบบแก้ไขเพิ่มเติม" นั่นเอง (เป็นการกระทำทางการเมือง ในสภาวะว่างเปล่า หรือผูกพันกับอำนาจอื่นใด)
ในท้ายที่สุด กล่าวได้ว่า 'การใช้อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญแบบแก้ไขเพิ่มเติม' (เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ หรือแก้ไขบางมาตรา) ก็คือ อำนาจที่ได้รับผ่านมาจาก "รัฐธรรมนูญดั้งเดิม" นั่นเอง หมายความว่า เป็นภารกิจที่ได้รับอำนาจมาจากรัฐธรรมนูญโดยตรง เพื่อการสถาปนารัฐธรรมนูญในทางแก้ไข มิใช่ ภารกิจตามรัฐธรรมนูญที่ใช้อำนาจในลักษณะทั่วไป มิใช่การใช้อำนาจบริหาร หรือนิติบัญญัติ แทรกแซงอำนาจตุลาการแต่อย่างใด
และการพิจารณาว่า การกระทำนั้นใช้อำนาจนิติบัญญัติ หรือ อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ มิได้พิจารณาจาก "องค์กรที่ได้รับมอบหมายภารกิจ" (เช่น รัฐสภา หากปฏิบัติการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ก็มิได้เป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติสำหรับการนั้น) หรือ "บุคคลากรผู้ทรงภารกิจ"(นักการเมือง) แต่พิจารณาจากการกระทำทางเนื้อหา ว่าเป็นการใช้อำนาจตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญในทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือไม่ เป็นหลักเกณฑ์พิจารณา
นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องศาลที่ประกอบด้วย ผู้พิพากษาอาชีพ หรือไม่ หาได้เกี่ยวข้องกับ legitimacy ของคำพิพากษา แต่อย่างใด เพราะขึ้นอยู่กับ "มาตร" ว่าคุณยืนอยู่บนฐานของหลักคิดนิติรัฐแบบเสรีประชาธิปไตย หรือ นิติรัฐแบบนาซี ส่วน legality ต้องพิจารณาสภาพของคดีด้วย เช่น คดีการเมือง : คดีอาญาประธานาธิบดี (คดีอาญาประธานาธิบดี ได้ถูกยกเลิกไปเมื่อปี ๒๐๐๗ เพราะฝรั่งเศสมองว่า ประธานาธิบดี มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยสูงมาก เนื่องจากผ่านเจตจำนงของปวงชนผู้ทรงอำนาจอธิปไตย) และคดีอาญารัฐมนตรี ที่อยู่ในเขตอำนาจของ High Court of Justice ซึ่งประกอบด้วย ผู้พิพากษาในศาลนี้ (เทียบคือ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง ของไทยที่เลียนโครงสร้างฝรั่งเศสมา) ประกอบด้วย สส.๖คน สว.๖ คน ผู้พิพากษาอาชีพ ๓ คน (ผู้พิพากษาอาชีพทำหน้าที่เขียนคำพิพากษา และสามารถโหวตมติทีละประเด็นได้เหมือน อีก ๑๒ คน) เพราะสภาพคดีมันเป็นคดีการเมือง เขาจึงให้ผู้มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย มีอำนาจขับออก เป็นต้น จะกล่าวอย่างหยาบๆเหมาว่า คดีทุกประเภท ผู้พิพากษาอาชีพ มีความชอบธรรม ที่สุด และเถรตรงที่สุด เช่นกิตติศักดิ์ ไม่ได้หรอกครับ แต่สุดท้ายอำนาจตุลาการ ก็อยู่ต่ำกว่า 'อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ' อยู่ดี
หรือถ้าพิจารณากรณีของไทย ตามตัวอย่างของกิตติศักดิ์ ยิ่งชัดแจ้งเมื่อพิจารณาเนื้อหา ว่า พรป. บัญญัติให้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง (อม.) ต้องยึดสำนวน ปปช. เป็นหลัก ซึ่งตอนรัฐประหาร ๑๙ กันยา : บรรดา คตส ทำหน้าที่แทน ปปช, ซึ่ง คตส ถูกแต่งตั้งจากผู้ที่จงรักภักดีต่ออุดมการณ์ลักษณะเดียวกับคณะรัฐประหาร
หากถือตรรกะเดียวกับกิตติศักดิ์ ที่ยกตัวอย่าง ฮิตเลอร์ อ้างความสงบเรียบร้อย ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ๑๒ ปี(โดยประมาณ) แต่งตั้งพรรคพวกเข้าเป็นศาล กิตติศักดิ์ มองว่า ย่อมเป็นการเสียกระบวนยุติธรรม กลับมาที่ไทย หากพิจารณาตัวบท การยึดสำนวน ปปช เป็นหลัก (พอดีผมศึกษาเรื่องนี้ อยู่ จึงอ่านงานวิจัยทางนี้หลายสิบเล่มของ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ พอสมควร ทรรศนะของศาลค่อนข้างชัดว่า) "คตส หรือ ปปช" ทำหน้าที่ ศาลไต่สวน , "ส่วนศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง" ทำหน้าที่ ศาลพิพากษา [ตามโครงสร้างของอเมริกา ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด ของผู้ร่างฯ] แล้วการที่ คตส ไปทำหน้าที่ตามความเข้าใจว่ามีสถานะอย่าง "ศาลไต่สวน" เท่ากับ คตส ไปเป็นหน่วยหนึ่งของกระบวนการชั้นศาล ใช่หรือไม่ แล้วจะย้อนกลับไปยังตรรกะฮิตเลอร์ของกิตติศักดิ์ ว่าใช้อำนาจแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม หรือไม่ ซึ่งจะหมายรวมต่อไปว่า คมช รัฐประหาร เป็นการใช้อำนาจเผด็จการแต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่งในกระบวนการชั้นศาล ใช่หรือไม่? (หรือ คมช มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ในมุมมองกิตติศักดิ์ ครับ?)
ขอสรุปโดยกระชับเพียงเท่านี้ครับ ใช้เวลาเยอะแล้ว.
______________________

สำหรับ กรณี สมคิด เลิศไพฑูรย์ ที่ตั้งคำถามไว้ [ http://www.prachatai.com/journal/2011/09/37098 ] ผมตอบดังนี้(ผมคงตอบกระชับ ๆ เนื่องจากพิมพ์ตอบกิตติศักดิ์ ไว้เพิ่งเสร็จ)
๑. สมคิด ถามว่า "เราสามารถยกเลิกกฎหมายที่ถูกยกเลิกไปแล้วได้หรือไม่ เช่น การยกเลิก รธน. ๒๕๔๙"
คำตอบ คือ ได้ เพราะ รัฐธรรมนูญ ๔๙ ถูกรับรองการก่อผล (ของรัฐธรรมนูญปี ๔๙) ให้ดำรงอยู่โดยชอบด้วยมาตรา ๓๐๙ ตามรัฐธรรมนูญ ๕๐ หมายความว่า รัฐธรรมนูญ ๕๐ ได้ผนวกเอา "สภาวะทางกฎหมาย" ของรัฐธรรมนูญ ๔๙ เข้าไว้เป็นเนื้อหนึ่งอันเดียวกันกับรัฐธรรมนูญ ๕๐ นั่นเอง ซึ่งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขแดงที่ ๗๘๔๑/๒๕๕๓ (คดีที่คุณฉลาด ฟ้อง คมช) เพิ่งพิพากษาเมื่อปี ๕๓ (ซึ่งประกาศใช้รัฐธรรมนูญ๕๐ แล้ว) ก็ได้อ้าง ผลบังคับของรัฐธรรมนูญ ๔๙ ในฐานะแหล่งอ้างอิงความชอบด้วยกฎหมาย ในปัจจุบัน
๒. "ถ้าตำรวจจับคนร้ายที่ทำผิดจริงมาแต่ไม่ได้สอบสวนโดยละเอียด ต่อมาคนร้ายถูกฟ้องศาล มีการโต้แย้งว่ากระบวนการของตำรวจไม่ค่อยถูกต้อง แต่ศาลเห็นว่าไม่เป็นไร ศาลก็พิพากษาไป ตกลงคำพิพากษาของศาลใช้ได้หรือไม่"
ตอบ ดูตอนท้าย ในส่วนที่ผมตอบ กิตติศักดิ์ ปรกติ
๓. "ถ้ามีคนเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมในช่วง คมช.ไม่ถูกต้อง ก็ให้ดำเนินการใหม่ คนอีกกลุ่มเห็นว่าการตัดสินคดีซุกหุ้น ศาลตัดสินผิดโดยสิ้นเชิง คนกลุ่มหลังจะขอให้ยกเลิกรธน. ๒๕๔๐ ตั้งศาลรธน.ใหม่ แล้วพิพากษาคดีซุกหุ้นใหม่ จะได้หรือไม่"
ตอบ ได้ถ้าคุณใช้อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญตามกระบวนการทางรัฐธรรมนูญ
๔. "ประชาชนจะลงมติแก้รธน.ที่ถูกยกเลิกไปแล้วได้หรือไม่"
ตอบ ย้อนไปดูคำตอบในข้อ ๑.
๕. "รธน.๒๕๕๐ ได้รับการลงประชามติโดยประชาชน ในทางกฎหมายเราจะพูดได้หรือไม่ว่า ประชาชนลงมติโดยไม่ถูกต้อง หรือรธน. ๒๕๕๐ ไม่ได้ผ่านความเห็นชอบของประชาชน?"
ตอบ สมคิด ได้อ่านข้อเสนอนิติราษฎร์ไม่ เพราะหากอ่านแถลงการณ์นิติราษฎร์ ไม่เคยปฏิเสธการดำรงอยู่ของ รธน ๔๙ และ ๕๐ และไม่ปฏิเสธความชอบธรรมในระดับหนึ่งของประชามตินั้นด้วย แม้จะไม่เป็นประชามติโดยแท้(เลือกในสิ่งที่ไม่มีตัวเลือกที่ชัดเจน) , และนิติราษฎร์เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยนำร่างรัฐธรรมนูญ ดังกล่าว ไปลงประชามติ อีกครั้ง เช่นนี้ สมคิด จะตื่นเต้นอะไรครับ? เนื่องจาก นิติราษฎร์ มุ่งกำจัดสิ่งปฏิกูลของคณะรัฐประหาร และนำตัวพวกเขาเหล่านั้นมาลงโทษก่อกบฎ ทั้งตัวการ ผู้ใช้ และผู้สนับสนุน
๖. "คตส. ตั้งโดยคมช. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ตั้งโดย คมช. ใช่หรือไม่"
ตอบ ไม่ใช่ แต่ คตส ซึ่งแต่งตั้งโดยประกาศ คปค เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนพิจารณาของศาล และนิติราษฎร์กล่าวชัดว่า ศาลฎีกาฯ ตัวองค์กรตั้งมาก่อนแล้ว แต่กระบวนการทางคดี มิชอบ (โปรดดูตอนท้าย ที่ผมตอบ กิตติศักดิ์ เพิ่มเติม)
๗. "การดำเนินการตามแนวคิดของนิติราษฎร์ ไม่มีผลทางกฎหมายต่อนายกฯทักษิณเลยใช่หรือไม่"
ตอบ การกระทำความผิดหรือไม่ผิด ของทักษิณ ยังคงดำรงอยู่ตามกฎหมายที่บังคับใช้ในขณะที่กระทำ และอายุความก็ยังคงนับไปเรื่อยๆ เสมือนไม่มีการดำเนินคดีเกิดขึ้น หมายความว่า ปปช ซึ่งต้องถูกรีเซ็ตองค์กรมใหม่ จะฟ้องทักษิณ ก็ยังคงทำได้จนกว่าจะหมดอายุความ ทั้งนี้ ไม่เป็นฟ้องซ้ำ เพราะ การลบล้าง คือ ไม่เคยมีการฟ้อง มาก่อน
๘. "มาตรา ๑๑๒ ขัดแย้งกับ รธน .จริงหรือ และขัดกับรธน. ๒๕๕๐ ที่จะถูกยกเลิกใช่หรือไม่"
ตอบ ขัดรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ทุกฉบับครับ สมคิด ควรตอบให้ตรงๆ เลยว่า ความพอสมควรแก่เหตุระหว่างความผิดทางวาจา (มาตรา ๑๑๒) กับ โทษ เป็นไปตามหลักความพอสมควรแก่เหตุซึ่งเป็นรากหรือแก่น ของรัฐธรรมนูญในนิติรัฐประชาธิปไตยหรือไม่ นี่คือมาตรชี้ ที่นิติราษฎร์เสนอว่า ขัดรัฐธรรมนูญครับ (ไม่ว่าจะมี รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙หรือไม่ก็ตาม)
๙. "ประเทศทั้งหลายในโลกรวมทั้งเยอรมัน เขาไม่คุ้มครองประมุขของประเทศเป็นพิเศษแตกต่างไปจากประชาชนใช่หรือไม่"
ตอบ คุ้มครองครับว่า จะจับกุมคุมขังมิได้ เป็นเอกสิทธิ์ประมุขแห่งรัฐ เช่น ประมุขรัฐหนึ่ง เอาปืนยิงคน เช่นนี้จับกุมไม่ได้ ต้องถอดจากตำแหน่งเสียก่อน (เช่นการประหาร พระเจ้าหลุยส์ ตอนปฏิวัติฝรั่งเศส) แต่ freedom of expression เป็นคนละเรื่องกับ immunity of head of state ใน sense แบบนิติรัฐเสรีประชาธิปไตย นะครับ
๑๐. "ถ้ามีคนไปโต้แย้งนิติราษฎร์ในที่สาธารณะเขาจะไม่ถูกขว้างปาและโห่ฮาเหมือนกับหมอตุลย์ใช่หรือไม่"
ตอบ ผมไม่ใช่หมอดู หมอเดา หรือสุนัขรับใช้รัฐประหาร ที่จะตอบคำถามแบบนี้นะครับ
๑๑. "ถ้าเรายกเลิกกฎหมายที่ถูกยกเลิกไปแล้วได้ เราจะล้มเลิกการกระทำทั้งหลายและลงโทษคณะรัฐประหารกี่ชุด สุจินดา ถนอม ประภาส สฤษดิ์ จอมพล ป. อ.ปรีดี หรือจะลงโทษเฉพาะคณะรัฐประหารที่กระทำต่อนายกฯทักษิณ"
ตอบ นิติราษฎร์ เสนอว่า ให้ยกเลิกบรรดา "รัฐประหารที่ล้มล้างรัฐธรรมนูญ" ถ้ากรณีใดเข้าข่าย ต้องเอาผิดทั้งสิ้น, แต่บางกรณีบังคับการไม่ได้โดยสภาพ ผลคือ คดีอาญาระงับ ไงครับผม, สำหรับกฎหมาย เราให้ล้างหมด แล้ว valid ทีหลัง (ในทางสัญลักษณ์)
๑๒. "ความเห็นของนักกฎหมายที่เห็นไม่ตรงกับนิติราษฎร์แต่ดีกว่านิติราษฎร์ รัฐบาลนี้จะรับไปใช่หรือไม่"
ตอบ ไปถามรัฐบาลนะครับ อย่าคิดเอาเองแบบพวกนักรัฐประหาร นะครับ
๑๓. "ศาลรธน. ช่วยนายกฯทักษิณคดีซุกหุ้นถือว่าใช้ได้ แต่ไม่ช่วยคดียึดทรัพย์ถือว่าใช้ไม่ได้ เป็นตุลาการภิวัตน์ใช่หรือไม่"
ตอบ ผมไม่สนว่าใครช่วยใคร แต่ทุกคนจะถูกดำเนินคดีต่อเมื่ออยู่ในระบบกฎหมายที่ปกติ ไม่ถูกก่อตั้งสถานะและอำนาจโดยการรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญ (ซึ่งสถานะและอำนาจดังกล่าว เป็นบ่อเกิดของตุลาการภิวัตน์) ถามว่า กรณีซุกหุ้น ศาลพิพากษาโดยผ่านกระบวนการ รัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญ หรือไม่? ตอบคือ ไม่ ศาลพิพากษาในระบบกฎหมายปกติ และไม่ล้มสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เช่น การล้มผลการเลือกตั้ง โดยขัดหลักความพอสมควรแก่เหตุ เป็นต้น
๑๔. "บทบัญญัติว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรธน. ๒๕๕๐ แย่กว่า รธน. ๒๕๔๐, ๒๔๗๕ ที่นิติราษฎร์จะนำมาใช้ใช่หรือไม่"
ตอบ สมคิด ครับ รัฐธรรมนูญ เกิดทีหลัง ประชาชน ซึ่งมีสิทธิเสรีภาพมาก่อนแล้ว ; ฉะนั้น แม้จะไม่มีหมวดสิทธิเสรีภาพ ถามว่า ประชาชน จะไม่มีสิทธิเสรีภาพหรือ? คำตอบคือ ไม่ เขายังมีบริบูรณ์ทุกประการ ; สังเกต จากรัฐธรรมนูญ ที่เขียนเรื่องสิทธิเสรีภาพ ของอเมริกา นะ เขียนเชิง negative ตลอดเลย คุณไม่ต้องไปเขียน เพราะยิ่งเขียน มันยิ่งแสดงอำนาจรัฐในการควบคุมสิทธิเสรีภาพเข้าไปเรื่อยๆ ล่ะครับ
๑๕. "คมช. เลว ส.ส.ร.ที่มาจาก คมช.ก็เลว รธน.๒๕๕๐ ที่มาจาก ส.ส.ร.ก็เลว แต่รัฐบาลที่มาจาก รธน. เลว เป็นรัฐบาลดีใช่หรือไม่"
ตอบ รัฐบาล ไม่ได้มาจากรัฐธรรมนูญ นะครับ รัฐบาลคลอดมาจาก เจตจำนงของประชาชน , รัฐธรรมนูญ เป็นเพียงฐานรับรองที่มาของรัฐบาล(ว่าให้มาจากการเลือกตั้ง แบ่งเขตอย่างไร) เป็นเพียง "วิธีการ" ซึ่งจะเลวหรือไม่ ต้องถามประชาชน หรือถ้าตอบว่า เลว แล้วถามต่อไปว่า ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ เลวหรือไม่ ในเมื่อคลอดรัฐธรรมนูญ(อย่างน้อยในการยกร่างฯ) มาจาก ผู้ร่างฯ ตรรกะเดียวกัน
๑๖. "ส.ส.ร.ที่มาจากรัฐบาลชุดนี้และที่ อ.วรเจตน์จะเข้าร่วม ก็เป็น ส.ส.ร.ที่ดีใช่หรือไม่
ตอบ ผมยังไม่เคยได้ยินว่า วรเจตน์ บอกว่า เข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม ทราบเพียงว่า ถ้าเข้าแล้วทำได้ตามประกาศนิติราษฎร์ ก็จะไป ซึ่งจะเป็นสสร ที่ดีหรือไม่ ผมตอบคุณสมคิด ไม่ได้หรอก แต่ถ้าถามว่า สสร ชุดที่มาจาก กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสถาบันการเมืองซึ่งมีที่มาจากการเลือกตั้งดำเนินการ มีความชอบธรรม (legitimacy) หรือไม่ ตอบว่า สสร.ซึ่งมีที่มาดังกล่าว ย่อมมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ครับ

ในท้ายนี้ ขอกล่าวสั้นๆว่า ผมไม่แปลกใจเลยว่า เหตุใด รัฐธรรมนูญฉบับ ๕๐ จึงร่างได้ห่วยแตก มักง่าย ตั้งแต่สารบัญหรือการจัดหมวดของรัฐธรรมนูญ (ขออภัยที่ใช้คำสามัญ) เมื่อได้เห็นวิธีตั้งคำถาม และมองประเด็นของคุณสมคิด เลิศไพฑูรย์ ในฐานะ ผู้ร่วมร่างรัฐธรรมนูญ คมช. ตลอดจน การที่ คุณสมคิด ตั้งคำถามลักษณะนี้ ซึ่งไม่จำต้องใช้สติปัญญาทางวิชาชีพแต่ประการใด จะมักง่ายไปล่ะมังครับ? ท่านไม่ต้องวิตกครับว่า หากอธิบายเป็นเนื้อความแล้ว จะมีคนมองว่า ท่าน "กลวง" แล้วหมดความเลื่อมใสทางวิชาการ เพราะอย่างน้อย ท่านจะยังมีความกล้าหาญทางวิชาการอยู่บ้าง.

วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2554

พระราชอำนาจกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

โดยปิยบุตร แสงกนกกุล

การแสดงความเห็นเรื่องพระราชอำนาจในช่วงนี้ เริ่มหนักขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งไปกว่านั้นความเห็นดูจะเทไปในทิศทางเดียวกันหมด เข้าใจว่ามีอีกหลายคนที่อยากแสดงความเห็นไปในทางตรงกันข้าม แต่คงไม่กล้าหรือมีอุปสรรคอยู่บ้าง ก็ในเมื่ออีกฝ่ายนั้นหาเกราะกำบังชั้นดีในนามของคำว่า จงรักภักดีเสียแล้ว หากเราเห็นค้านเข้าจะมิเป็น ผู้ไม่จงรักภักดีหรือ

ประวัติศาสตร์สอนเราเสมอว่า ใครที่โดนข้อหา ไม่จงรักภักดีแล้ว จะโดนโทษทัณฑ์หนักหนาสาหัสเพียงใด แม้โทษทัณฑ์นั้นจะไม่ได้เป็นโทษทัณฑ์ทางกฎหมาย หากเป็นเพียงโทษทัณฑ์ทางพฤตินัย แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมีอานุภาพร้ายแรง

ถึงกระนั้นก็ตาม ผมเชื่อว่าประเทศไทยยังคงมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพทางวิชาการอยู่ ในสายตาของวิญญูชนแล้ว การแสดงความคิดเห็นที่ตั้งอยู่บนเหตุผลคงไม่เป็นเหตุให้เราต้องกลายเป็นผู้ไม่จงรักภักดีกระมัง

ผมมีความเห็นไม่ตรงกับเจ้าของสื่อและนักการเมืองผู้กลายเป็นนักเขียน เบสต์ เซลเลอร์ที่ออกมาเป็นคนถือธงชู พระราชอำนาจอยู่หลายประการ จึงขอใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเพื่อร่วมถกเถียงในประเด็นดังกล่าวด้วย

เพื่อความเข้าใจในเรื่องพระราชอำนาจกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จำเป็นต้องเริ่มจากการกล่าวถึงรูปแบบของประมุขของรัฐเสียก่อน จากนั้นจึงว่าถึงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ และพิจารณาถ้อยคำ “The King can do no wrong” ปิดท้ายด้วยความเห็นส่วนตัวของผมต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้

-๑-
ประมุขของรัฐ

ในแต่ละรัฐมีประมุขของรัฐแตกต่างกันไป รัฐที่ประกาศตนเป็นสาธารณรัฐ ย่อมหมายความว่า ประมุขของรัฐเป็นสามัญชนคนธรรมดา ตำแหน่งประมุขของรัฐไม่มีการสืบทอดทางสายเลือด โดยมากมักเรียกกันว่าประธานาธิบดี รัฐที่ปกครองในระบบรัฐสภา ประธานาธิบดีที่เป็นประมุขของรัฐ (Head of State) ย่อมไม่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารประเทศอย่างแท้จริง หากเป็นนายกรัฐมนตรีที่เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร (Head of government) เช่น สิงคโปร์ เยอรมัน อิตาลี ฟินแลนด์

ในขณะที่รัฐที่ปกครองในระบบประธานาธิบดี ตัวประธานาธิบดีย่อมเป็นทั้งประมุขของรัฐ (Head of State) และหัวหน้าฝ่ายบริหาร (Head of government) กล่าวคือ ประธานาธิบดีมีอำนาจบริหารอย่างแท้จริง เช่น สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ นอกจากนี้ยังมีลูกครึ่งที่ใช้ระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดีที่มีประธานาธิบดีและมีนายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐ (Head of State) นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร (Head of government) แต่ประธานาธิบดีมีอำนาจบริหารจริงๆร่วมไปกับนายกรัฐมนตรีด้วย เช่น ฝรั่งเศส โปรตุเกส

ในส่วนของรัฐที่เป็นราชอาณาจักร หมายความว่า ประมุขของรัฐเป็นเชื้อพระวงศ์ การสืบทอดตำแหน่งเป็นไปทางสายเลือด แน่นอนว่าประเทศที่มีกษัตริย์เป็นประมุขย่อมไม่มีทางปกครองในระบบประธานาธิบดีได้ เพราะตำแหน่งประมุขของรัฐสงวนไว้ให้กับพระมหากษัตริย์แล้ว พระมหากษัตริย์ไม่มีอำนาจในการออกกฎหมาย การบริหาร การตัดสินคดีด้วยพระองค์เอง หากกระทำไปโดยความแนะนำขององค์กรอื่นอันได้แก่ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล

กล่าวสำหรับไทยเรานั้น เป็นราชอาณาจักร มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ปกครองในระบบรัฐสภา หรือที่เรียกกันว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือระบอบที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Monarchie constitutionnel) ซึ่งตรงกันข้ามกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Monarchie absolue) เช่นเดียวกับสหราชอาณาจักร สเปน สวีเดน ญี่ปุ่น

-๒-

พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์

พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขทรงมีพระราชอำนาจในสองลักษณะ ได้แก่ พระราชอำนาจโดยแท้ของพระองค์เอง และพระราชอำนาจที่ต้องมีผู้ถวายคำแนะนำและรับสนองพระบรมราชโองการ

พระราชอำนาจโดยแท้ ก็เช่น การแต่งตั้งองคมนตรี การแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเทียรบาล การพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ซึ่งพระราชอำนาจในส่วนนี้จะปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ หมวด ๒ ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ ในส่วนของพระราชอำนาจที่ต้องมีผู้ถวายคำแนะนำและรับสนองพระบรมราชโองการ ก็เช่น การลงพระปรมาภิไธยในร่างพระราชบัญญัติต่างๆ (มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ) การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี (มีประธานรัฐสภาเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ) การแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญต่างๆ (ประธานวุฒิสภาเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ)

อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจเท่าที่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญเท่านั้น หากยังทรงมีพระราชอำนาจบางอย่างบางประการตามธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญอีกด้วย

ธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญคืออะไร?

ธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญหรือที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า “Constitutional conventions” ในภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า “Coutume constituitonnel” คือ กฎเกณฑ์ที่กำหนดประพฤติกรรมทางรัฐธรรมนูญซึ่งผูกพันบุคคลหรือองค์กรทั้งหลายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบรัฐธรรมนูญ

อีกนัยหนึ่ง บุคคลหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญยอมปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ใดกฎเกณฑ์หนึ่งซึ่งไม่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญ แต่เป็นธรรมเนียมที่ประพฤติปฏิบัติกันมาจนเป็นที่ยอมรับว่าต้องปฏิบัติตาม

ธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับพระราชอำนาจ มีอะไรบ้าง?

วอลเตอร์ แบร์ซอต (ที่คอลัมนิสต์คนหนึ่งของสื่อที่ออกมาบอกว่าข้าจงรักภักดีอย่างหาใครมาเสมอเหมือนเป็นไม่มีมักยกขึ้นอ้างบ่อยครั้ง) กล่าวไว้ในตำราของเขาว่าพระมหากษัตริย์มีสิทธิในการให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรี มีสิทธิในการให้การสนับสนุน และสิทธิในการว่ากล่าวตักเตือน

ความข้อนี้เราพบเห็นว่าปรากฏอยู่จริงในธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญไทย แม้รัฐธรรมนูญไทยจะไม่ได้กำหนดไว้แต่เป็นที่ยอมรับกันว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีสิทธิดังกล่าว จะเห็นได้จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้สิทธิทั้งสามประการนี้อย่างสม่ำเสมอ เช่น การยุติความขัดแย้งทางการเมืองในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พระบรมราโชวาทเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนพระบรมราโชวาท ๔ ธันวาคมของทุกปี

ตลอดรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันซึ่งมีระยะเวลายาวนาน เรายังพบว่าเกิดพระราชอำนาจที่ไม่ปรากฏในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ หากเป็นพระราชอำนาจตามธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญ เช่น การยับยั้งร่างกฎหมายของพระมหากษัตริย์

บทบัญญัติในมาตรา ๙๔ ของรัฐธรรมนูญกำหนดว่า กรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยในร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือเมื่อพ้นเก้าสิบวันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาจะต้องพิจารณาร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นใหม่ ถ้ารัฐสภามีมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสาม ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายอีกครั้ง หากพระมหากษัตริย์ยังมิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานคืนมาภายในสามสิบวัน ให้นายกรัฐมนตรีนำพระราชบัญญัติหรือพระราชบัญญัติประกอบร่างรัฐธรรมนูญนั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว

โดยธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญของไทยแล้ว ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบในร่างกฎหมายใด หรือไม่พระราชทานร่างกฎหมายใดคืนมาภายใน ๙๐ วัน รัฐสภาจะไม่นำร่างกฎหมายนั้นกลับมาพิจารณาเพื่อยืนยันใหม่ แต่กลับให้ร่างกฎหมายนั้นตกไปทั้งๆที่รัฐธรรมนูญมาตรา ๙๔ อนุญาตให้รัฐสภามีอำนาจยืนยันร่างกฎหมายกลับไปใหม่ได้

กรณีการยับยั้งร่างกฎหมายของพระมหากษัตริย์ของไทยดังที่กล่าวมาข้างต้นแตกต่างจากของอังกฤษ กล่าวคือ ตามธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญอังกฤษ พระมหากษัตริย์จะไม่ใช้พระราชอำนาจไม่เห็นชอบร่างกฎหมายหรือพระราชทานคืนร่างกฎหมายกลับมาให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาใหม่ ปกติแล้วพระมหากษัตริย์จะทรงลงพระปรมาภิไธยในร่างกฎหมายเสมอ หากจะทรงใช้พระราชอำนาจยับยั้งร่างกฎหมายก็ต้องมาจากคำแนะนำของคณะรัฐมนตรีเท่านั้น

พึงสังเกตไว้ด้วยว่าพระราชอำนาจในธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญของพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ไม่เท่ากัน ทั้งนี้ขึ้นกับพระบารมีของแต่ละพระองค์ เช่น สมัยรัชกาลที่ ๗ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่นาน จะเห็นได้ว่าพระราชอำนาจในธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญแทบจะไม่มีเอาเสียเลย ขณะที่สมัยรัชกาลปัจจุบัน พระองค์ทรงมีพระราชอำนาจตามธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญมากขึ้นในหลายกรณี ทั้งนี้เนื่องจาก ระยะเวลาการครองราชย์ที่ยาวนานของพระองค์ประกอบกับพระราชจริยวัตรที่งดงามของพระองค์เอง

อย่างไรก็ตาม แม้เราจะยอมรับว่าพระราชอำนาจในธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญนั้นมีจริงในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่พระราชอำนาจเช่นว่าก็ไม่อาจหลุดจากกรอบของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขได้

-๓-

The King can do no wrong ทำไมถึง no wrong

ที่เราพูดกันว่า “The King can do no wrong” นั้น หมายความว่า The King ไม่ทำอะไรเลย The King จึง no wrong หากลงมาทำก็ต้องมีความผิดตามมา ใครที่เคยสงสัยว่าระบอบนี้ไม่มีความเสมอภาค เพราะ The King ทำอะไรก็ไม่มีทางผิดนั้นแสดงว่าเขาไม่เข้าใจระบอบดีพอ ที่บอกกันว่าพระมหากษัตริย์ไม่ต้องรับผิดใดๆเลยนั้น เพราะพระมหากษัตริย์ไม่ได้ทำอะไรเองจึงไม่ต้องรับผิด หากเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการต่างหาก

ต้องไม่ลืมว่า อำนาจย่อมเคียงคู่กับ ความรับผิดชอบแล้วเราอยากให้ในหลวงมี ความรับผิดชอบในทางการเมืองให้แปดเปื้อนพระยุคลบาทอย่างนั้นหรือ

หยุด แสงอุทัย ปรมาจารย์ทางกฎหมายรัฐธรรมนูญบอกว่า การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ผู้ใดจะล่วงละเมิดพระมหากษัตริย์ไม่ได้ พระมหากษัตริย์จะไม่มีทางกระทำผิด แต่เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการที่เป็นผู้ถวายคำแนะนำนั้นเข้ามารับผิดแทน ความข้อนี้ย่อมหมายความว่าพระมหากษัตริย์ไม่ได้กระทำการใดๆด้วยพระองค์เอง แต่ทำตามคำแนะนำขององค์กรต่างๆ ดังที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญมาตรา ๓ ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาลตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนี้

คำกล่าวอ้างของนักการเมืองผู้กลายมาเป็นนักเขียน เบสต์ เซลเลอร์ที่ว่า พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจโดยแท้ในการแต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่ง จึงนับเป็นความเห็นที่ไร้เดียงสาที่สุดเท่าที่ผมเคยพบเห็น

หากเรายืนยันให้เป็นไปตามที่นักการเมืองผู้กลายมาเป็นนักเขียน เบสต์ เซลเลอร์และเจ้าของสื่อคนหนึ่งที่อ้างตนเป็นผู้จงรักภักดีกล่าวไว้ ต่อไปการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงหรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงคงไม่ต้องวิ่งฝ่ายการเมืองแต่วิ่งฝ่ายอื่นแทนกระมัง

แล้วขอบเขตความรับผิดชอบของฝ่ายการเมืองจะอยู่ที่ใด ในเมื่อฝ่ายการเมืองมีฐานที่มาจากประชาชน รับผิดชอบต่อประชาชน ทำผิดด่าได้ ขับไล่ได้ ไม่เลือกกลับเข้ามาใหม่ได้ แต่กลับตัดตอนลดทอนอำนาจเขาลง

ย้ำอีกครั้งว่า อำนาจกับ ความรับผิดชอบเป็นของคู่กัน ไม่มีผู้ใดที่มีอำนาจโดยปราศจากการรับผิดชอบ และไม่มีผู้ใดอีกเช่นกันที่มีแต่ความรับผิดชอบโดยปราศจากอำนาจหน้าที่

-๔-
ความปิดท้าย

ปรากฏการณ์ที่คนแห่แหนไปฟังอภิปรายเรื่อง พระราชอำนาจที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างท่วมท้นมิใช่เรื่องใหม่หรือเรื่องที่เกินคาดคิด เอาเข้าจริงมันสะท้อนถึงวัฒนธรรมที่ฝังอยู่ในตัวคนไทยมานานแสนนาน วัฒนธรรมที่ยอมสยบต่อ อำนาจใดอำนาจหนึ่ง วัฒนธรรมที่อยากสู้รบปรบมือกับ อำนาจหนึ่งแต่ไม่มีปัญญา ก็ต้องวิ่งหาอีก อำนาจหนึ่งเพื่อเป็นเกราะกำบัง วัฒนธรรมประเภทถูกรังแกมาจึงวิ่งหา พี่ใหญ่วัฒนธรรมไพร่ทาสที่เกลียดนายเก่าวิ่งหานายใหม่แต่อย่างไรก็ยังคงต้องเป็นทาสอยู่ดี

แต่อย่างน้อยผมก็เห็นสัญญาณที่ดีในกรณีที่ พล.อ. สุรยุทธ จุลานนท์ และคุณสุเมธ ตันติเวชกุล ไม่เข้าร่วมอภิปรายเรื่อง พระราชอำนาจที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรรมศาสตร์ เพราะเกรงว่าไม่เหมาะสมที่เข้ามาเกี่ยวพันกับประเด็นการเมือง แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่ว่าเจ้าของสื่อและนักเขียน เบสต์ เซลเลอร์จะได้รับการโปรดปรานเท่าไรนัก

ต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ผมมองว่าเป็นการประลองกันในเชิงอำนาจ ลองของกันว่าใครเจ๋งกว่าใคร เรียกได้ว่าทดสอบบารมีกับประชาชนเสียหน่อย อย่างที่เรารับรู้กันดีว่าบางครั้งเสือสองตัวก็ไม่อาจอยู่ถ้ำเดียวกันได้

พึงระวังว่า เมื่อช้างชนช้าง หญ้าแพรกอย่างเราๆก็แหลกราญ แน่นอนที่สุด ต้องมีคนที่ประสบเคราะห์กรรมจากการ ชนกัน เช่นกัน ต้องมีคนอีกกลุ่มที่เป็น ตาอยู่แปลงกายเป็นฮีโร่อยู่ร่ำไป

ที่น่ากังวล คือ ต่อไปจะเกิดสงครามการแย่งชิง ความจงรักภักดีฝ่ายหนึ่งก็ว่าตนจงรักภักดี ไอ้นั่นต่างหากที่ไม่จงรักภักดี ในขณะที่อีกฝ่ายก็ว่าตนจงรักภักดีไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เอ็งนั่นแหละที่แอบอ้าง ซึ่งเริ่มเห็นลางๆแล้วจากเหตุการณ์ แย่งกันเอาเหาไปใส่กบาลฝ่ายตรงข้ามด้วยการปิดรายการทีวีของเจ้าของสื่อ ตามมาด้วยฟ้องร้องกันไปมาระหว่างนายกฯกับเจ้าของสื่อ

เช่นนี้แล้ว การต่อสู้ทางการเมืองย่อมไม่ตั้งอยู่ที่ เหตุผลหากโอนย้ายไปตั้งอยู่ที่ กำลัง

กำลังที่มีอาวุธเป็น ความจงรักภักดี

กล่าวสำหรับข้อโจมตีที่มีต่อทักษิณ ตัวผมเองปกติก็ไม่พิสมัยระบอบทักษิณเท่าไรนัก แต่งานนี้พูดได้เลยว่าผมสงสารทักษิณอย่างจับใจที่โดนศัตรูเล่นสกปรกแบบนี้ จะเล่นงานทักษิณ เกลียดขี้หน้ารัฐบาล (แม้บางคนจะเคยหลงรักมาก่อน เข้าทำนองเคยรักมาก ตอนนี้เลยเกลียดมาก) ก็ควรเล่นกันในกรอบ ทักษิณบริหารไม่ดีอย่างไร โกงอย่างไร ก็แจกแจงมาอย่าเอาเบื้องสูงมาแอบอ้างเพื่อยัดเยียดข้อหา ไม่จงรักภักดีให้กับทักษิณ

ประวัติศาสตร์สอนให้เราเห็นแล้วว่าปรีดีเคยถูกกำจัดออกไปจากสารบบการเมืองไทยด้วยวิธีการสกปรก (แม้ผมจะไม่เคยคิดว่าทักษิณเทียบเท่าปรีดีเลยก็ตาม) สื่อบางค่ายทำตัวไม่ต่างกับสมัยก่อนที่มีการจ้างคนไปตะโกนในโรงหนังว่า ปรีดีฆ่าในหลวงไม่น่าเชื่อว่าสื่อค่ายนั้นเป็นสื่อที่ไฮเทคที่สุดในประเทศไทยแต่กลับใช้วิธีโบราณๆเช่นนี้

ลองคิดกันดู ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแบบ ไทยๆอย่างที่เป็นอยู่ คิดหรือครับว่าทักษิณจะโง่ถึงขนาดที่จะ ไม่จงรักภักดี

ความจงรักภักดีน่าจะหมายถึงการปกป้องไม่ให้การเมืองเข้าไปข้องแวะองค์พระมหากษัตริย์มากกว่าที่จะแอบอ้างเบื้องสูงเพื่อนำมาใช้เป็น อาวุธทิ่มแทงศัตรูของตน

กล่าวให้ถึงที่สุด สถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขจะเข้มแข็ง มีเสถียรภาพ และได้การยอมรับนับถือจากประชาชน ก็ต่อเมื่อสถาบันกษัตริย์แสดงบทบาททางการเมืองได้อย่างสมเหตุสมผล ถูกที่ถูกเวลา การเชิญสถาบันกษัตริย์เข้ามามีบทบาททางการเมืองจึงควรใช้เมื่อยามจำเป็นจริงๆเท่านั้น

ผมมีข้อสงสัยให้เก็บไปคิดกันเล่นๆ

๑. ถ้านักการเมืองผู้กลายมาเป็นนักเขียน เบสต์ เซลเลอร์ยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอยู่ น่าคิดว่าเขาจะออกมาเขียนหนังสือและอภิปรายต่อสาธารณะอย่างที่เขาทำอยู่หรือไม่

๒. ถ้าพระมหากษัตริย์มีอำนาจที่จะไม่ลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งใครไปดำรงตำแหน่งจริง ต่อไปถ้าไม่ลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งนายกฯ แต่งตั้งรมต. แต่งตั้งข้าราชการระดับสูงได้ ถามว่าเราจะเอาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแบบนี้หรือ ถามว่าเราจะเรียกระบอบนี้ว่าประชาธิปไตยได้เต็มปากเต็มคำหรือ ถามว่าเราจะมีการเลือกตั้งไปทำไม ถามว่าเราจะยอมรับอีกล่ะหรือว่า “The King can do no wrong”

ผมไม่ให้คุณค่าต่อการกระทำของนักการเมืองผู้กลายมาเป็นนักเขียน เบสต์ เซลเลอร์” (หนังสือเล่มนั้นก็ไม่มีอะไรมากไปกว่า การตัดแปะงานเก่าๆ ของรอแยลลิสม์หลายๆคน เพียงแต่ว่าบังเอิญออกมาได้จังหวะเท่านั้น ลองจินตนาการว่าถ้าหนังสือเล่มนั้นออกมาตอนต้นปี ๒๕๔๔ จะขายได้หรือไม่) และสื่อค่ายนั้นเท่าไรนัก

แต่ที่ผมให้ความสำคัญคือ ท่าทีของพสกนิกรชาวไทยทุกคนที่ควรเข้าใจให้ชัดว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขต้องเป็นอย่างไร

ต้องไม่ลืมคำกล่าวของลอร์ด แอ็คตันที่ว่า อำนาจทำให้คนเสื่อม อำนาจเด็ดขาดยิ่งทำให้คนเสื่อมอย่างเด็ดขาดย่อมใช้ได้กับทุกคน ทุกชนชั้น ไม่จำเพาะเจาะจงกับนายกรัฐมนตรี

แถลงการคณะนิติราษฎร์ 4 ประเด็น ร้องขอให้การรัฐประหารเสียเปล่า

แถลงการณ์คณะนิติราษฎร์
เนื่องในโอกาสครบรอบ ๑ ปี นิติราษฎร์
ประเด็นที่ ๑
การลบล้างผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ รัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นการกระทำที่ ผิดกฎหมาย ทำลายนิติรัฐประชาธิปไตย และยังเป็นต้นเหตุของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ คณะนิติราษฎร์จึงเสนอให้มีการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ดังต่อไปนี้
            ๑. ประกาศให้รัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ และการกระทำใดๆที่มุ่งต่อผลในทางกฎหมายของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  (คปค.) ตั้งแต่ วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ จนถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๙ เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย
๒. ประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ( ฉบับชั่วคราว ) พุทธศักราช ๒๕๔๙ มาตรา ๓๖ และมาตรา ๓๗ เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย
๓.  ประกาศให้คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ อาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) และคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เป็นผลต่อเนื่องจากรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาคำวินิจฉัย และคำพิพากษาที่ เกิดจากการเริ่มกระบวนการโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสยหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)  เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย
๔. ประกาศให้เรื่องที่อยู่ในกระบวนพิจารณาในชั้นเจ้าหน้าที่ และเรื่องที่อยู่ในกระบวนพิจารณาในชั้นศาลที่เกิดจากการเริ่มเรื่องโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เป็นอันยุติลง
๕. การประกาศความเสียเปล่าของบรรดาคำวินิจฉัยและคำพิพากษาตามข้อ ๓ และการยุติลงของกระบวนการตามข้อ ๔ ไม่ใช่เป็นการนิรโทษกรรมหรือการอภัยโทษหรือการล้างมลทินแก่บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด  และไม่ใช่เป็นการลบล้างการกระทำทั้งหลายทั้งปวงของผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ดังนั้นหากจะเริ่มดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าวใหม่ก็สามารถกระทำไปตามกระบวนการทางกฎหมายปกติได้
๖. เพื่อความชอบธรรมทางประชาธิปไตย คณะนิติราษฎร์เสนอให้นำข้อเสนอดังกล่าวข้างต้นไปจัดทำเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมและนำไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติ
  
ประเด็นที่ ๒
การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒
ตามที่คณะนิติราษฎร์ได้จัดทำข้อเสนอการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ และนำเสนอสู่สาธารณะตั้งแต่วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๔ แล้วนั้น
๑. คณะนิติราษฎร์ยังยืนยันว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ มีปัญหาทั้งในแง่ตัวบทกฎหมาย การบังคับใช้ และอุดมการณ์ และจำเป็นต้องแก้ไข บุคคลที่เกี่ยวข้องไม่ควรปฏิเสธว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา๑๑๒ ไม่มีปัญหาและไม่จำเป็นต้องแก้ไข ทั้งที่ยังไม่มีการศึกษาและอภิปรายในวงกว้างอย่างจริงจัง
๒. คณะนิติราษฎร์เห็นว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิง ในประเด็นเรื่อง ความสมดุลระหว่างความร้ายแรงของการกระทำอันเป็นความผิดกับโทษที่ผู้กระทำความผิดนั้นควรได้รับ จึงไม่เป็นไปตามหลักความพอสมควรแก่เหตุซึ่งได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๙
๓. คณะนิติราษฎร์เสนอให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในประเด็นประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ เพื่อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีต่อไปตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พ.ศ.๒๕๕๓ มาตรา ๑๙ (๓)
ประเด็นที่ ๓
กระบวนการยุติธรรมกับผู้ต้องหาหรือจำเลยและการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายภายหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙  สืบเนื่องจากการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ประเทศไทยต้องตกอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองเรื่อยมา มีการชุมนุมของฝ่ายต่างๆ  มีการใช้ความรุนแรง มีผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด และมีผู้ได้รับความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน    ดังนั้น    เพื่ออำนวยความยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย และเพื่อบรรเทาความเสียหายของประชาชน คณะนิติราษฎร์จึงเสนอให้ดำเนินการดังต่อไปนี้โดยเร่งด่วน และเป็นรูปธรรม
๑.  คณะนิติราษฎร์ไม่ เห็นด้วยกับการออกกฎหมายนิรโทษกรรมที่ มีเป้าหมายแอบแฝงเพื่อยุติกระบวนการพิสูจน์ความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา  อย่างไรก็ดีสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดโดยมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง หรือมีประเด็นทางการเมืองเป็นองค์ประกอบอย่างมีนัยสำคัญ ต้องได้รับการประกันตามกระบวนการที่ ถูกต้องและเป็นธรรม (Due Process) ใน
ลักษณะที่ไม่แตกต่างจากผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในกรณีทั่วไป สิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวต้อง ถูกพิจารณาโดยเคร่งครัดและอย่างเป็นภาวะวิสัย ในขณะที่การเรียกประกันหรือหลักประกันก็ต้องไม่เกินความจำเป็นแก่กรณี ตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๑๐ วรรคท้าย แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  ซึ่งสอดคล้องกับหลักให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ (Presumption of Innocence) และก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ตามที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๓๙  
๒. โดยอาศัยหลักความรับผิดของรัฐ คณะนิติราษฎร์เสนอให้คณะรัฐมนตรี พิจารณาออกมติคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความช่วยเหลือหรือจ่ายค่าทดแทนแก่ผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการ
เมืองที่เกิดขึ้นภายหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยายน  ๒๕๔๙ อย่างไม่เลือกปฏิบัติ โดยอาจแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมารับผิดชอบโดยเฉพาะ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราค่าทดแทน สามารถอาศัยแนวทางตามกฎหมายที่มีอยู่แล้ว เช่น พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. ๒๕๔๔หรือพระราชบัญญัติสงเคราะห์ผู้ประสบภัยเนื่องจากการช่วยเหลือราชการ การปฏิบัติงานของชาติหรือการปฏิบัติตามหน้าที่มนุษยธรรม พ.ศ.๒๕๔๓ เป็นต้น และการได้รับค่าทดแทนดังกล่าวไม่เป็นการตัดสิทธิหรือประโยชน์ที่ผู้เสียหายพึงได้ตามกฎหมายอื่น
๓. คณะนิติราษฎร์เสนอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติติดตามตรวจสอบการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องหาหรือจำเลย ซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยองค์กรต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เพื่อเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๒๘
ประเด็นที่ ๔
การยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๕๐ เป็นผลพวงต่อเนื่องจากรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ จึงมีปัญหาความชอบธรรมทางประชาธิปไตย แม้ว่ารัฐธรรมนูญดังกล่าวผ่านการออกเสียงประชามติก็ตาม แต่กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญ และกระบวนการจัดให้มีการออกเสียงประชามติไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย
๑.    คณะนิติราษฎร์เสนอให้คณะรัฐมนตรี เสนอร่างรัฐธรรมนูญ
แก้ไขเพิ่มเติม หมวด ๑๖ การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่
๒.    คณะนิติราษฎร์เห็นว่ารัฐธรรมนูญที่จะนำมาใช้เป็นต้นแบบ
ในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ สมควรเป็นพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๘๙ และอาจนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๔๐ ในส่วนของการประกันสิทธิและเสรี ภาพ ตลอดจนโครงสร้างสถาบันการเมืองและองค์กรทางรัฐธรรมนูญเท่าที่ สอดคล้องกับพัฒนาการในยุคร่วมสมัยมาเป็นแนวทางในการยกร่าง
๓.    เพื่อมิให้การรัฐประหารทำลายหลักการอันเป็นรากฐานของนิติรัฐประชาธิปไตยจนหมดสิ้น คณะนิติราษฎร์เสนอให้มีการจัดทำ  คำประกาศว่าด้วยคุณค่าอันเป็นรากฐานของระบอบเสรี ประชาธิปไตยแม้คำประกาศดังกล่าวจะไม่มีสถานะเป็นกฎหมาย แต่คำประกาศดังกล่าวเป็นวิญญาณของระบอบเสรีประชาธิปไตยที่ไม่มีบุคคลใดหรือไม่มีวิธีใดทำลายหรือทำให้สูญสิ้นไปได้
๔.    คำประกาศว่าด้วยคุณค่าอันเป็นรากฐานของระบอบเสรีประชาธิปไตย ยืนยันว่ามนุษย์ทั้งปวงเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิอำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย ไม่มีผู้ใดและไม่มีวิธีใดที่จะพรากไปจากราษฎรได้ การปกครองโดยกฎหมายที่ยุติธรรมเป็นคุณค่าพื้นฐานของรัฐ และการแบ่งแยกอำนาจเป็นอุดมการณ์ในการจัดรูปการปกครองที่ต้องธำรงไว้ให้มันคงตลอดกาล
๕.    หลังจากสภาร่างรัฐธรรมนูญให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ให้นำร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวไปออกเสียงประชามติเพื่อให้ความเห็นชอบ
วรเจตน์ ภาคีรัตน์
จันทจิรา เอี่ยมมยุรา
ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล
ธีระ สุธีวรางกูร
สาวตรี สุขศรี
ปิ ยบุตร แสงกนกกุล
ปูนเทพ ศิรินุพงศ