วันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2554

ใจ อึ๊งภากรณ์: แกนนำเสื้อแดงไม่ยอมพูดความจริงทั้งหมดกับมวลชน


ในงาน "คอนเสิร์ตต้อนรับวันอิสรภาพ ลมหายใจที่ไม่แพ้" ของเสื้อแดงเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2554 ที่ชั้น 6 ห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียล ลาดพร้าว แกนนำหลายคนได้แสดงจุดยืนเกี่ยวกับรัฐบาลใหม่ ซึ่งเราจะต้องนำมาวิเคราะห์ (ดูคลิปวิดีโอได้ที่ http://thaienews.blogspot.com/ )

บก.ลายจุด สมบัติ บุญงามอนงค์ เสนอว่า "เสื้อแดงเป็นกองหลัง เพื่อไทยเป็นกองหน้า" บอกว่าเสื้อแดงกับเพื่อไทยต้องเกาะกันสนิท และเชื่อว่าคนของเราที่คุมอำนาจอยู่ ท้ายสุดสมบัติมีความหวังว่านายกยิ่งลักษณ์จะนำคนที่สั่งฆ่าประชาชนมาขึ้นศาลประชาชน

ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ บอกว่าจะเดินหน้าหาทางประกันคนเสื้อแดงทั่วประเทศ 40 คนที่ยังถูกขังอยู่ ณัฐวุฒิเสนออีกว่าต้องปรับวิธีทำงานของคนเสื้อแดง เน้นการขยายมวลชน บอกให้คนเสื้อแดงใจเย็นไปก่อน รอให้แกนนำนปช.กำหนดแนวทาง และมองว่าเราต้องปกป้อง "รัฐบาลของประชาชน"

จตุพร พรหมพันธ์ บอกว่าคนเสื้อแดงต้องปกป้องรัฐบาลเพื่อไทยจากรัฐประหาร อย่างที่เคยเกิดกับรัฐบาลไทยรักไทยและพลังประชาชน จตุพรบอกด้วยว่าฆาตกรที่สั่งฆ่าประชาชนยังมีตำแหน่งและลอยนวล เราไม่ควรลืม

แกนนำเหล่านี้เป็นคนที่กล้าหาญเสียสละและต่อสู้มานาน แต่ตอนนี้เขามีแนวโน้มที่จะไว้ใจรัฐบาลเพื่อไทยมากเกินไปว่าจะแก้ไขวิกฤตการเมือง เช่นเรื่องการนำคนสั่งฆ่าประชาชนมาขึ้นศาล โดยไม่มีการวิเคราะห์เลยว่าเพื่อไทยพร้อมจะปรองดองยอมจำนนต่อทหารแค่ไหน ไม่เตรียมมวลชนสำหรับการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมเลย ซึ่งเราอาจต้องสู้เพื่อกดดันรัฐบาล หรืออาจต้องถึงกับคัดค้านรัฐบาลในบางเรื่องด้วย แกนนำเหล่านี้มองว่าเสื้อแดงต้องไว้ใจรัฐบาลให้โอกาสรัฐบาล และใจเย็นรอเป็นปีๆ เพื่อให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ การพูดแบบนี้เป็นการเสนอมุมมองว่าเสื้อแดงเป็นแค่ "กองเชียร์" หรือ "ลูกน้อง" ของรัฐบาล แทนที่เสื้อแดงจะเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อความยุติธรรมและประชาธิปไตย

การเสนอว่าเสื้อแดงควรใช้เวลาตอนนี้ในการขยายเครือข่ายมวลชน เป็นเรื่องดี แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือไม่ระบุว่าการขยายมวลชนเสื้อแดง ควรเน้นไปที่ไหน ไม่พูดถึงความสำคัญของขบวนการแรงงาน พูดแค่ว่าเราควรหามิตรให้มากที่สุด ซึ่งอาจหมายความว่าต้องไปจับมือกับเสื้อเหลืองหรือเปล่า? ยิ่งกว่านั้นการเสนอให้ขยายเครือข่ายมวลชน โดยไม่ขยายผลงานในรูปธรรมของเสื้อแดงพร้อมๆ กัน เช่นเรื่องการเคลื่อนไหวให้ยกเลิก 112 การเลิกคดีคนเสื้อแดง การปลดผบทบ. หรือการแจ้งความ อภิสิทธิ์ สุเทพ อนุพงษ์ ประยุทธ์ ในคดีฆ่าประชาชน จะทำให้ขยายมวลชนอยากมาก เพราะเราจะต้องมีผลงานรูปธรรมไปเสนอกับคนที่ยังไม่เป็นเสื้อแดงเพื่อให้เขามาเป็นพวก

บางคนอาจบอกว่าถ้าเรารุกสู้แบบนั้น เราจะดึงเสื้อเหลืองมาเป็นมิตรไม่ได้ ถ้าคิดอย่างนั้นก็เท่ากับคิดยอมจำนนกับอำมาตย์ เพื่อนำเสื้อเหลืองมาเป็นมิตร ความคิดแบบนี้จะนำเราไปสู่ความพ่ายแพ้

แกนนำเสื้อแดงพูดถูกเวลาบอกว่าเราต้องปกป้องรัฐบาลจากรัฐประหาร แต่ถ้าเราเน้นบทบาทของเสื้อแดงไว้แค่นี้ และปลุกให้คนกลัวรัฐประหารมากเกินไป จะทำให้เรามองข้ามความเป็นไปได้ว่ารัฐบาลเพื่อไทยทำข้อตกลงกับทหารอยู่แล้ว เพื่อไม่ให้มีการทำรัฐประหาร เช่นการสัญญาว่าจะไม่ปลดประยุทธ์ ไม่แก้ไขปัญหา 112 หรือไม่นำคนสั่งฆ่าประชาชนมาขึ้นศาล ถ้าเราไม่ระวังการพูดแต่เรื่องรัฐประหารจะกลายเป็นข้ออ้างในการเสนอว่าเสื้อแดงควรใจเย็นไม่เคลื่อนไหวเพื่อทวงความยุติธรรมต่างๆ เลย

แกนนำเสื้อแดงเหล่านี้พูดในทำนองว่ารัฐบาลเพื่อไทยไม่มีหนี้บุญคุณกับเสื้อแดงเลย ไม่พูดในลักษณะต่อรองว่าเสื้อแดงจะสนับสนุนรัฐบาล ต่อเมื่อรัฐบาลตอบสนองความต้องการของเราในเรื่องความยุติธรรม การสนับสนุนรัฐบาลต้องมีเงื่อนไขเสมอ

ในเรื่องคดี 112 หรือกฏหมายเผด็จการ 112 ไม่มีการพูดอะไรเลย ทั้งๆ ที่รัฐมนตรีพรรคเพื่อไทยสองคนประกาศว่าจะใช้ 112 ในลักษณะเข้มงวดมากขึ้น ถ้าเลือกที่จะมองข้ามปัญหานี้ ก็เท่ากับเลือกที่จะมองข้ามอำนาจนอกระบบของอำมาตย์

เวลาแกนนำอย่างสมบัติและจตุพรพูดว่า "คนเสื้อแดงเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยและเป็นเจ้าของรัฐบาล" เราต้องถามว่าจริงแค่ไหน? หรือว่าในความเป็นจริงทหารและแนวร่วมอำมาตย์ เพียงแต่ยอมให้เราลงคะแนนเสียงเลือกรัฐบาลเท่านั้น ในขณะที่เขาถืออำนาจดิบอยู่ในมือ เพื่อบังคับไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงแท้จริงในสังคมไทย

คนเสื้อแดงไม่ควรรอโดยไม่ทำอะไร เราควรตั้งวงถกเถียงแลกเปลี่ยนเรื่องแนวทางการต่อสู้ เราควรจะมีตารางเวลาในการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เราระบุต่อสังคมให้ชัดเจนและเรียกร้องต่อรัฐบาล เราต้องพูดถึง 112 และอำนาจทหารด้วย และเราควรจะนำข้อสรุปต่างๆ ของเราไปยื่นให้กับแกนนำ นปช. เพื่อให้ขบวนการเสื้อแดงมีความเป็นประชาธิปไตย คนเสื้อแดงระดับรากหญ้าควรจะเป็นเจ้าของนโยบาย นปช. ไม่ใช่นั่งรอให้แกนนำสั่งการลงมาอย่างเดียว และอย่าลืมว่าถ้าเรายิ่งนั่งรอนานเท่าใด ขบวนการของเราจะอ่อนแอลงมากขึ้นเท่านั้น เรายิ่งหลงไว้ใจรัฐบาลมากเท่าใด เราจะยิ่งผิดหวังเท่านั้น

ท้าให้คน"รักในหลวง"ทุกคนตอบ ประเด็นเรื่อง"สถาบันกษัตริย์ดีเยี่ยม - นักการเมืองเลวสุด"นี้ครับ พนันได้เลยว่าตอบไม่ได้


สมศักดิ์ เจียมฯ:ท้าให้คน"รักในหลวง"ทุกคนตอบ ประเด็นเรื่อง"สถาบันกษัตริย์ดีเยี่ยม - นักการเมืองเลวสุด"นี้ครับ พนันได้เลยว่าตอบไม่ได้

อ้างอิง http://thaienews.blogspot.com/2011/04/blog-post_7998.html

โดย สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
ที่มา กระดานสนทนาInternet Freedom

ประโยคแบบนี้ ของผู้จงรักภักดี ที่เห็นกันบ่อยๆ ผิดตรงไหน?
"ความฉิบหายของบ้านเมืองไม่เคยมาจากสถาบัน ทุกเหตุการณ์ล้วนมาจากนักการเมืองทั้งสิ้น...ท่านก็อยู่ในวังของท่านทุกวัน ไอ้พวกที่ป่วนบ้านป่วนเมืองล้วนมาจากฝีมือนักการเมืองทั้งสิ้นครับ.... โกงก็นักการเมือง ทั้งโกง ทั้งกินงบของซาติจนจะฉิบหายกันแล้ว.... แต่ในหลายๆเหตุการณ์มักจะยุติที่สถาบันเป็นผู้ชี้ทางออกให้ .."


ผมยืมประโยคเหล่านี้มาจากคณ @Sky Bird (ที่มีคุณ @Thanachart Promsorn สนับสนุน) ในกระทู้นี้ของผม http://goo.gl/0N7rE ใครที่เคยฟังสัมภาษณ์อย่างหมอตุลย์ หรืออ่านตามเพจ จงรักภักดีต่างๆ ก็จะเห็นบ่อยๆ

แต่ประโยคแบบนี้ผิดมากๆ ด้วย เหตุผล 2 ประการ (ความจริงเป็นประการเดียว เพราะต่อเนื่องกัน) คือ

1. เป็นประโยคที่คนเถียงไม่ได้ แม้จะรู้สึกไม่เห็นด้วย แต่....
2. ที่เถียงไม่ได้ ไมใช่เพราะ "เป็นความจริง" ครับ ตรงกันข้ามเลย เพราะมันไม่ได้วางอยู่บน "ฐาน" หรือ "บรรทัดฐาน" ของ "ความจริง" ทีเรายอมรับกันในโลกปัจจุบันต่างหากครับ

เถียงไม่ได้ แม้จะไม่เห็นด้วยยังไง?

ผมว่า ถ้าผู้จงรักภักดี คิดดูให้ดี ก็คงน่าจะเข้าใจได้ไม่ยาก คือ สมมุติผมเกิดไม่เห็นด้วย แล้วจะให้ผมเถียงยังไง? จะให้เสนอในทางกลับกัน จากประโยคข้างบน ผมก็โดน ม.112 เล่นงานเท่านั้น คือ ต่อให้สมมุติ (ย้ำ สมมุติ) ผมมีทั้งข้อมูลและเหตุผลหนักแน่นสนับสนุน ในการที่จะเสนอกลับกันกับข้างบนที่พวกคุณเสนอ ผมก็ไม่สามารถเถียงได้อย่างเต็มที่ อย่างมากก็อาจจะแค่ "ชี้เป็นนัยๆ" แบบ"เบาๆ" ว่ามีข้อมูลหรือเหตุผลที่โต้แย้งได้เท่านั้น - ดังตัวอย่างข้างล่าง

และที่เถียงไม่ได้แบบนี้ นี่เอง ก็สะท้อนว่า ประโยคแบบนี้ ไม่ได้ตั้งอยู่บน "ฐาน" หรือ "บรรทัดฐาน" ของ "ความจริง" ตามที่เรายอมรับกันปัจจุบัน

ลองดูประโยคข้างบนอีกที ทำไมพวกจงรักภักดี จึงคิดว่า นักการเมือง "เลว" อย่างที่ว่า?

ก็เพราะเราสามารถที่จะ ดีเบตเรื่องนักการเมืองได้ เราสามารถจะหยิบยกกรณีต่างๆเกี่ยวกับนักการเมืองมาอภิปรายได้ ทั้งเรื่องการเมือง เรื่องศีลธรรม เรื่องเงินทอง แล้วพอเรายกได้ เราเรียนรู้เรื่องพวกนี้ ทางสาธารณะได้ เราก็ยอมรับว่า มันคือ "ความจริง"

ที่ประหลาดคือ ในทางกลับกัน เราไม่สามารถ ทำแบบเดียวกันในกรณีสถาบันกษัตริย์ได้ อย่างที่บอกว่า ต่อให้สมมุติว่าเรา มีข้อมูลหรือเหตุผลที่จะ (สมมุตินะครับ สมมุติ) เสนอในทางตรงข้ามเลยกับข้อความข้างบน เราก็ทำไมได้ .. แต่ "ประหลาด" ที่ บรรดาผู้จงรักภักดี กลับยอมรับว่า "ความจริง" เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์เป็นอย่างทีว่ามา ทั้งๆที่วางอยู่บน "ฐาน" หรือ "บรรทัดฐาน" ที่ไม่สามารถมีการตรวจสอบเรื่องข้อมูล ไม่สามารถมีกาารเสนอ เรื่องเหตุผลในทางลบได้

พูดจริงๆนะครับ ยกเลิก ม.8 รธน. ยกเลิก 112 (เป็นอย่างน้อย) ให้ผมสิครับ แล้วผมจะแสดงให้ดูว่า สามารถที่จะมีข้อมูลและเหตุผลสนับสนุน ในทางตรงกันข้ามเลยกับข้อสรุปข้างบนอย่างไรได้บ้าง

ในระหว่างที่ ผมยังมีข้อจำกัดด้านกฎหมายอยู่นี้ ให้ผมลองพูดแบบจำกัด แค่ยกตัวอย่างไม่กี่กรณีเท่านั้น เอาแค่ เรื่อง "หัวข้อ" ของกรณีเหล่านี้ คุณคิดหรือว่า ถ้ามีการให้เสรีภาพในการให้ข้อมูล ในการยกเหตุผลอภิปรายกันอย่างเต็มที่จริงๆ จะสามารถทำให้ข้อสรุปเกี่ยวกับสถาบันกษํตริย์ของคุณ "ยืน" อยู่แบบนั้นได้?

(เอาตั้งแต่ต้นรัชกาล) กรณีสวรรคต ร.8, กรณีทรงแต่งตั้งสฤษดิ์ เป็นผู้รักษาพระนคร หลังสฤษดิ์รัฐประหาร โดยที่พระบรมราชโองการแต่งตั้งนั้น ไมมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ตามที่ รธน.บอก, กรณีที่สถาบันกษัตริย์มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับระบอบสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส, กรณีการประทะหน้าสวนจิตรฯในเช้าวันที่ 14 ตุลา, กรณีความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับ กลุ่มอย่างลูกเสือชาวบ้าน ไปจนถึงกรณี 6 ตุลา, กรณีทรัพย์สินของรัฐหลายพันล้าน อยู่ภายใต้การควบคุมของสถาบันกษัตริย์ โดยที่ไม่สามารถตรวจสอบได้เลยทั้งสิ้น (ซึ่งผิดหลักการมากๆ ไม่มีประเทศไหนในโลกสมัยใหม่ให้ทำกัน รวมทั้งของไทยเอง

ลองนึกว่า ถ้ายกทรัพย์สินหลายพันล้านให้ นายกฯควบคุมโดยสิ้นเชิง จะมีใครยอมไหม? ต่อให้เป็น นายกฯ"มือสะอาด" แบบปรีดี หรือ ป๋วย กลับชาติมาเกิดก็ตาม?) กรณีค่าใช้จ่ายต่างๆเกียวกับสถาบันกษัตริย์ (นึกถึงการ "เดินทาง" หรือการใช้ "ยานพาหนะ" ประเภทต่างๆของพระราชวงศ์บางพระองค์)

ไปจนถึงแม้แต่กรณีเรื่องที่พูดกันถึง "ความวิเศษ" ของ "โครงการหลวง" คุณรู้ได้ยังไว่า "วิเศษ" จริงๆ? ในเมื่อไม่สามารถตรวจสอบได้ ไม่สามารถนำมาวิพากษ์เอาผิด หรือที่เรียกว่า accountability กันได้?)

ในแง่การเมือง ก็เถอะ เรื่องที่อ้างเรื่อง "แก้วิกฤติ" น่ะ ถ้าให้อภิปรายกันจริงๆถึงความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษํตริย์กับทหาร อย่างเต็มที่ล่ะ?


ทั้งหมดที่พูดมานี้ ผมเพียงพูดแบบ ย่อที่สุด เฉพาะหัวข้อเท่านั้น ไม่ได้ลงรายละเอียดในแต่ละประเด็น และไม่ได้พูดถึงอีกนับไม่ถ้วนประเด็นเลยด้วยซ้ำ เพราะพูดมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว

ถ้าสังคมไทยมีเสรีภาพในการพูดเรือ่งพวกนี้จริงๆ คุณคิดว่า ข้อสรุปเรื่อง "ความดี-ไม่ดี" ระหว่างสถาบันกษัตริย์-นักการเมือง ของคุณจะเป็นเหมือนแบบที่ชอบพูดๆกัน แลผมยกมาข้างบนนั้นได้จริงๆหรือ? 

ทุกวันนี้ ที่คุณยังพูดแบบที่พูดมาซ้ำๆกันได้ ก็เพราะคนที่ไม่เห็นด้วย เขาเถียงไม่ได้ เพราะมีกฎหมายห้ามไว้ เพราะสังคมไทยไม่ยอมให้มีการเถียงในสิ่งที่คุณพูดมาได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะมีข้อมูลหรือเหตุผลประกอบอย่างหนักแน่นขนาดไหน

เพราะพวกคุณ "หลอกตัวเอง" ในเรื่องอะไรคือความจริง ไม่จริง คุณยอมรับว่า เป็น "ความจริง" เรื่องเกียวกับนักการเมือง ที่คุณสามารถมีข้อมูลด้านลบได้ สามารถเถียงกัน ให้เหตุผลชักจูงกันในทางลบได้ ... แต่พอมาถึงเรื่องสถาบันกษัตริย์ ที่ทำแบบเดียวกันไม่ได้ ที่คุณรับมาแต่ข้อมูลด้านเดียว แบบถูก "โปรแกรม" ใส่หัวมาแต่เด็กๆ และไม่มีสภาพแวดล้อมทางสังคม ให้ถกเถียง ให้โต้แย้งในสาธาารณะได้ คุณกลับเชื่อวา นั่นเป็น "ความจริง" เหมือนกัน

ไม่รู้สึกว่าเป็นอะไรที่ไร้เหตุผล ไร้สามัญสำนึกมากๆหรือครับ?

ลองกลับไปอ่านเฉพาะหัวข้อกรณีต่างๆที่ผมเขียนมาข้างบนอีกที ถ้ามีเสรีภาพในการอภิปรายโต้แย้ง ให้ข้อมูลในประเด็นเหล่านั้นได้เต็มที่จริงๆ ข้อสรุปเกียวกับสถาบันกษัตริย์ของสังคมไทย จะเป็นแบบที่เป็นหรือ? 

*********
เรื่องเกี่ยวเนื่อง:คลิปสมศักดิ์ เจียมฯ:ไม่ใช่แค่#112แต่เป็นอุดมการณ์กษัตริย์นิยม และสถานะกษัตริย์ในสังคมไทย