วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2554

อุดมการณ์ประชาธิปไตยจริงหรือ ?


Filed under: กลยุทธ์ — ภูวเดช @ 4:46 am 
ผมเชื่อว่ากลุ่มคนเสื้อแดงส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดต้องการเห็นบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยจริง จึงเรียกร้องให้ยุบสภาเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินอนาคตของประเทศเอง ถึงขั้นยอมตายถวายชีวิตเพื่อประชาธิปไตยอย่างที่เห็นกัน แต่น่าเสียดายยังมีคนส่วนน้อยเพียงไม่กี่คนที่ไม่ได้ต้องการประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และที่แย่ลงไปอีกคือคนเหล่านี้เป็นผู้นำทางความคิดของกลุ่มคนเสื้อแดงทั้งหมด กลุ่มคนที่ไม่ได้ต้องการประชาธิปไตยอย่างแท้จริงเพียงไม่กี่คนนี้ก็คือ แกนนำนปช.และคุณ —— ผู้อยู่เบื้องหลังนั่นเอง ทำไมผมจึงพูดอย่างนั้น ?
การกระทำส่อเจตนา
ตั้งแต่ก่อนการชุมนุมช่วงเดือนเมษา-พฤษภาคม ได้มีการสร้างเงื่อนไขการชุมนุมหลักอยู่ ๒ เรื่องคือ ๑.ความไม่เป็นประชาธิปไตย โดยอ้างว่าระบบการปกครองที่ใช้อยู่เป็นผลมาจากการรัฐประหารซึ่งเป็นระบบที่ผิดอยู่จะต้องเปลี่ยนแปลงทันที ๒.ในสังคมมีความเหลื่อนล้ำทางชนชั้นอยู่ ชนชั้นล่างซึ่งที่ชุมนุมเรียกว่าไพร่ กับชนชั้นสูง ซึ่งที่ชุมนุมเรียกว่าอำมาตย์ ได้รับการปฏิบัติทางกฏหมายไม่เท่าเทียมกัน
โอกาสประชาธิปไตยครั้งแรก
จากเงื่อนไขทั้ง ๒ นั้นแกนนำได้สรุปเป็นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลคือ ให้ยุบสภาทันที เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชน เลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ต่อไป และจัดชุมนุมเพื่อกดดันรํบบาลให้ปฏิบัติตามข้อเรียกร้อง แต่การชุมนุมด้วยความสงบไม่สามารถกดดันรัฐบาลได้ แกนนำจึงยกระดับการชุมนุมขึ้นเรื่อยๆ จนกดดันให้เกิดการเจรจารอบแรกสองวันได้ แต่จบลงด้วยการตกลงกันไม่ได้ ถึงแม้จะไม่ได้ข้อสรุปอย่างเป็นทางการ แต่นายอภิสิทธิ์นายกรัฐมนตรี ก็ยอมรับว่าจะมีการยุบสภาก่อนหมดอายุสภาโดยขอจัดการเรื่องงบประมาณ แก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ และเตรียมการเพื่อความสงบในการเลือกตั้ง ซึ่งในขณะนั้นคาดว่าจะใช้เวลา ๙ เดือน นั่นหมายความว่า แกนนำนปช. ได้การยุบสภาอย่างที่ร้องขอตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว เพียงแต่ยืดเวลาออกไปอีก ๙ เดือน แทนที่จะคอยให้หมดอายุสภาอีกปีกว่าๆ ผมถือว่าขณะนั้นแกนนำนปช.ทำสำเร็จแล้ว ดังนั้นสิ่งที่แกนนำควรจะทำคือเจรจาต่อด้วยเหตุผลให้ลดเวลาลงจาก ๙ เดือนให้มากที่สุดโอกาสได้ประชาธิปไตยครั้งแรก
โอกาสประชาธิปไตยครั้งที่สอง
แต่การณ์ไม่ได้เป็นเช่นนั้น แกนนำกลับออกมาประกาศว่าการเจรจาล้มเหลว ยืนยันให้นายกยุบสภาภายใน ๑๕ วัน และยกระดับการชุมนุมขึ้นไปโดยยึดสะพานผ่านฟ้าและถนนราชดำเนินชุมนุมโดยกีดขวางการจราจร จนเกิดการปะทะกันในวันที่ ๑๐ เมย. ทำให้เกิดความสูญเสียบาดเจ็บล้มตายทั้ง ๒ ฝ่าย ทำให้รัฐบาลต้องสั่งถอนกำลังเจ้าหน้าที่ออกมา หลังจากนั้นแกนนำก็ยกระดับการชุมนุมโดยนำฝูงชนเดินขบวนไปตามที่ต่างๆหลายจุดในกรุงเทพฯ และย้ายที่ชุมนุมไปปักหลักที่สี่แยกราชประสงค์ ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจมากมาย องค์กรธุรกิจใหญ่น้อยในย่านราชประสงค์ต้องปิดตัวลงชั่วคราว เป็นผลให้มีผู้ตกงาน ขาดรายได้ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชนผู้ไม่เกี่ยวข้องมากมาย จนนายอภิสิทธ์ได้เสนอข้อเสนอปรองดอง 5 ข้อโดยรวมการเลือกตั้งในเดือน พย. ที่จะถึงนี้ไว้ แต่มีเงื่อนไขให้แกนนำประกาศสลายการชุมนุมโดยสมัครใจเอง ดูเหมือนว่าแกนนำจะทำสำเร็จอีกครั้ง เพียงแต่รับข้อเสนอของนายก ก็จะได้การยุบสภาที่เร็วขึ้นกว่าการเจรจาครั้งแรก แต่ครั้งนี้อาจต้องแลกด้วยอิสระภาพของแกนนำ เพราะในการชุมนุมที่ผ่านมามีการทำผิดกฏหมายหลายอย่าง แต่ก็มีแง่มุมที่จะสู้คดีได้โอกาสได้ประชาธิปไตยครั้งที่สอง
แต่การณ์ก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น แกนนำประกาศรับข้อเสนอปรองดองของนายอภิสิทธิ์ แต่ไม่เลิกชุมนุม..ด้วยเหตุที่ไม่มั่นใจในความปลอดภัยของแกนนำเมื่อมอบตัวแล้วจะได้ประกันหรือไม่ จึงสร้างเงื่อนไขเพื่อจะใช้นายสุเทพ รองนายกเป็นคู่เทียบให้ได้การประกันตัว แต่นายสุเทพก็ไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นเงื่อนไขตามที่แกนนำต้องการ การชุมนุมจึงดำเนินต่อไป โดยแกนนำบอกว่าเป็นความผิดของนายสุเทพและรบ.ที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของนปช. จึงเป็นสิทธิ์ของนปช.ที่จะดำเนินการชุมนุมต่อไป จนการชุมนุมล่วงเลยมาอีก ๑ สัปดาห์ นายอภิสิทธิ์จึงประกาศยกเลิกข้อเสนอปรองดอง ด้วยเหตุที่นปช.ไม่รับข้อเสนอเพราะยังคงดำเนินการชุมนุมต่อ และท้ายที่สุดก็จบลงด้วยการเข้าสลายการชุมนุม แกนนำจึงประกาศเลิกชุมนุมและเข้ามอบตัวอย่างที่ทราบกัน
ข้อพิจารณาในเรื่องนี้ คือ แกนนำนปช.เริ่มต้นด้วย การประกาศว่า ต้องการประชาธิปไตย,ต้องการแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยให้เปลี่ยนแปลงด้วยการยุบสภาทันที โอกาสครั้งแรกได้ยุบสภาใน ๙ เดือนไม่เอา โอกาสคร้งที่สองได้ยุบสภาใน ๔ เดือนครึ่ง ไม่เอา จากการกระทำเช่นนี้ พิจารณาได้ว่า แกนนำนปช.ไม่ได้ต้องการประชาธิปไตยจริงๆเพราะถ้าแกนนำต้องการประชาธิปไตยจริงเหนืออื่นใด ต้องคว้าโอกาสตั้งแต่ครั้งแรกและทำให้ดีที่สุด โดยต้องไม่ยอมให้เกิดความเสียหายขึ้นกับผู้ชุมนุมและบ้านเมือง การทีแกนนำดึงดันที่จะชุมนุมต่อหลังการเจรจาครั้งแรกนั้น หมายความว่า แกนนำยืนยันต้องให้ยุบสภาทันที จึงเป็นคำถามว่าอะไรคือความต้องการที่แท้จริงที่ต้องยุบสภาทันที (ความต้องการนั้นมันสำคัญขนาดที่ยอมที่จะให้เกิดการปะทะในวันที่ ๑๐ เมย.ต่อมา) และการที่ไม่คว้าโอกาสครั้งที่สองนั้นทำให้มองได้ว่า ๑.ไม่มีความจำเป็นที่ต้องยุบสภาทันทีเพราะแกนนำยอมรับ ๔ เดือนครึ่งได้ (นั่นหมายความว่าที่พูดมาตั้งแต่แรกว่าต้องยุบสภาทันทีนั้นเป็นเพียงการสร้างเงื่อนไขการชุมนุมเท่านั้น) ๒.ประชาธิปไตยที่เรียกร้องนั้นไม่ได้สำคัญกว่าความปลอดภัยของแกนนำเลย
การอ้างประชาธิปไตยจึงเป็นเพียงโฆษณาชวนเชื่อของแกนนำนปช. เพื่อดึงมวลชนผู้รักประชาธิปไตยให้ออกมาชุมนุมเท่านั้น โดยความต้องการที่แท้จริงแห่งการชุมนุมนั้นถูกซ่อนไว้เบื้องหลัง ไม่ใช่เรียกร้องด้วยอุดมการณ์ประชาธิปไตยแต่ประการใดเลย