วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2554

ข้อโต้แย้งจากนักศึกษากฎหมาย ถึงนักวิชาการรุ่นใหญ่ กรณีข้อเสนอนิติราษฎร์

http://www.prachatai3.info/journal/2011/09/37107

Tue, 2011-09-27 23:00

พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล

ชื่อบทความเดิม:
บทวิพากษ์ ข้อโต้แย้งของนายกิตติศักดิ์ ปรกติ และนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ : กรณีข้อเสนอนิติราษฎร์ (สังเขป)

จากบทความที่กิตติศักดิ์ เขียนบทความเผยทางเฟซบุค [ http://www.facebook.com/note.php?note_id=10150388167910979 ] เมื่ออ่านบทความดังกล่าว ผมพบว่า ประเด็นสำคัญ อยู่ที่ กิตติศักดิ์ สับสนระหว่าง 'อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ' (pouvoir constituant) กับ 'อำนาจนิติบัญญัติ' (pouvoir législatif) โดยนำมาปะปนกัน ทั้งๆ ที่เป็นคนละเรื่องโดยสภาพของอำนาจ ตาม 'ทฤษฎีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ' ซึ่งพูดถึงกันน้อยมากในวงวิชาการไทย
'อำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ' (pouvoir constituant dérivé) ไม่ใช่ 'อำนาจนิติบัญญัติ' เนื่องจาก 'อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ' เป็นอำนาจที่สถาปนาอำนาจขององค์กรอื่นๆภายในรัฐอีกทีถ่ายหนึ่ง (ทั้งนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ) หมายความต่อไปว่า
องค์กรผู้ใช้ 'อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญแบบแก้ไขเพิ่มเติม' ไม่ตกอยู่ในอาณัติหน้าที่ 'ในฐานะองค์กรเดิม' หรือ 'จากองค์กรอื่นของรัฐ' อีกต่อไป เพราะ ธรรมชาติของการ 'ใช้อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ' เกิดจากความว่างเปล่า ซึ่งผู้ทรงอำนาจชี้ขาดความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ก็มิใช่ ศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลดังนี้
๑. การแก้ไขเพิ่มเติมย่อมเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญอยู่แล้วโดยสภาพของภารกิจ
๒. ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรที่ถูกสถาปนาอำนาจขึ้นโดยฐานของรัฐธรรมนูญดั้งเดิม หากศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจะกลายเป็น 'องค์กรที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ' (autorité supra constitutionnelle), ศาลรัฐธรรมนูญจึงทำหน้าที่ตรวจสอบอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติเท่านั้น
๓. ในทางหลักการคงเข้าใจตรงกันนะครับว่า ศาลรัฐธรรมนูญมิได้เป็นองค์กรผู้ผูกขาดอำนาจในการตีความรัฐธรรมนูญ (มีเขตอำนาจเฉพาะ) คือ ตรวจสอบได้เฉพาะร่างพระราชบัญญัติ และไม่ใช่อำนาจศาลยุติธรรมด้วย เพราะศาลยุติธรรม อาศัยอำนาจสถาปนาขึ้นโดยอำนาจพระราชบัญญัติ ซึ่งมีสถานะต่ำกว่า 'อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ' ดังนั้น องค์กรชี้ขาดความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ก็คือ "องค์กรที่ได้รับอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญแบบแก้ไขเพิ่มเติม" นั่นเอง (เป็นการกระทำทางการเมือง ในสภาวะว่างเปล่า หรือผูกพันกับอำนาจอื่นใด)
ในท้ายที่สุด กล่าวได้ว่า 'การใช้อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญแบบแก้ไขเพิ่มเติม' (เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ หรือแก้ไขบางมาตรา) ก็คือ อำนาจที่ได้รับผ่านมาจาก "รัฐธรรมนูญดั้งเดิม" นั่นเอง หมายความว่า เป็นภารกิจที่ได้รับอำนาจมาจากรัฐธรรมนูญโดยตรง เพื่อการสถาปนารัฐธรรมนูญในทางแก้ไข มิใช่ ภารกิจตามรัฐธรรมนูญที่ใช้อำนาจในลักษณะทั่วไป มิใช่การใช้อำนาจบริหาร หรือนิติบัญญัติ แทรกแซงอำนาจตุลาการแต่อย่างใด
และการพิจารณาว่า การกระทำนั้นใช้อำนาจนิติบัญญัติ หรือ อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ มิได้พิจารณาจาก "องค์กรที่ได้รับมอบหมายภารกิจ" (เช่น รัฐสภา หากปฏิบัติการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ก็มิได้เป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติสำหรับการนั้น) หรือ "บุคคลากรผู้ทรงภารกิจ"(นักการเมือง) แต่พิจารณาจากการกระทำทางเนื้อหา ว่าเป็นการใช้อำนาจตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญในทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือไม่ เป็นหลักเกณฑ์พิจารณา
นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องศาลที่ประกอบด้วย ผู้พิพากษาอาชีพ หรือไม่ หาได้เกี่ยวข้องกับ legitimacy ของคำพิพากษา แต่อย่างใด เพราะขึ้นอยู่กับ "มาตร" ว่าคุณยืนอยู่บนฐานของหลักคิดนิติรัฐแบบเสรีประชาธิปไตย หรือ นิติรัฐแบบนาซี ส่วน legality ต้องพิจารณาสภาพของคดีด้วย เช่น คดีการเมือง : คดีอาญาประธานาธิบดี (คดีอาญาประธานาธิบดี ได้ถูกยกเลิกไปเมื่อปี ๒๐๐๗ เพราะฝรั่งเศสมองว่า ประธานาธิบดี มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยสูงมาก เนื่องจากผ่านเจตจำนงของปวงชนผู้ทรงอำนาจอธิปไตย) และคดีอาญารัฐมนตรี ที่อยู่ในเขตอำนาจของ High Court of Justice ซึ่งประกอบด้วย ผู้พิพากษาในศาลนี้ (เทียบคือ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง ของไทยที่เลียนโครงสร้างฝรั่งเศสมา) ประกอบด้วย สส.๖คน สว.๖ คน ผู้พิพากษาอาชีพ ๓ คน (ผู้พิพากษาอาชีพทำหน้าที่เขียนคำพิพากษา และสามารถโหวตมติทีละประเด็นได้เหมือน อีก ๑๒ คน) เพราะสภาพคดีมันเป็นคดีการเมือง เขาจึงให้ผู้มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย มีอำนาจขับออก เป็นต้น จะกล่าวอย่างหยาบๆเหมาว่า คดีทุกประเภท ผู้พิพากษาอาชีพ มีความชอบธรรม ที่สุด และเถรตรงที่สุด เช่นกิตติศักดิ์ ไม่ได้หรอกครับ แต่สุดท้ายอำนาจตุลาการ ก็อยู่ต่ำกว่า 'อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ' อยู่ดี
หรือถ้าพิจารณากรณีของไทย ตามตัวอย่างของกิตติศักดิ์ ยิ่งชัดแจ้งเมื่อพิจารณาเนื้อหา ว่า พรป. บัญญัติให้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง (อม.) ต้องยึดสำนวน ปปช. เป็นหลัก ซึ่งตอนรัฐประหาร ๑๙ กันยา : บรรดา คตส ทำหน้าที่แทน ปปช, ซึ่ง คตส ถูกแต่งตั้งจากผู้ที่จงรักภักดีต่ออุดมการณ์ลักษณะเดียวกับคณะรัฐประหาร
หากถือตรรกะเดียวกับกิตติศักดิ์ ที่ยกตัวอย่าง ฮิตเลอร์ อ้างความสงบเรียบร้อย ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ๑๒ ปี(โดยประมาณ) แต่งตั้งพรรคพวกเข้าเป็นศาล กิตติศักดิ์ มองว่า ย่อมเป็นการเสียกระบวนยุติธรรม กลับมาที่ไทย หากพิจารณาตัวบท การยึดสำนวน ปปช เป็นหลัก (พอดีผมศึกษาเรื่องนี้ อยู่ จึงอ่านงานวิจัยทางนี้หลายสิบเล่มของ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ พอสมควร ทรรศนะของศาลค่อนข้างชัดว่า) "คตส หรือ ปปช" ทำหน้าที่ ศาลไต่สวน , "ส่วนศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง" ทำหน้าที่ ศาลพิพากษา [ตามโครงสร้างของอเมริกา ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด ของผู้ร่างฯ] แล้วการที่ คตส ไปทำหน้าที่ตามความเข้าใจว่ามีสถานะอย่าง "ศาลไต่สวน" เท่ากับ คตส ไปเป็นหน่วยหนึ่งของกระบวนการชั้นศาล ใช่หรือไม่ แล้วจะย้อนกลับไปยังตรรกะฮิตเลอร์ของกิตติศักดิ์ ว่าใช้อำนาจแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม หรือไม่ ซึ่งจะหมายรวมต่อไปว่า คมช รัฐประหาร เป็นการใช้อำนาจเผด็จการแต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่งในกระบวนการชั้นศาล ใช่หรือไม่? (หรือ คมช มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ในมุมมองกิตติศักดิ์ ครับ?)
ขอสรุปโดยกระชับเพียงเท่านี้ครับ ใช้เวลาเยอะแล้ว.
______________________

สำหรับ กรณี สมคิด เลิศไพฑูรย์ ที่ตั้งคำถามไว้ [ http://www.prachatai.com/journal/2011/09/37098 ] ผมตอบดังนี้(ผมคงตอบกระชับ ๆ เนื่องจากพิมพ์ตอบกิตติศักดิ์ ไว้เพิ่งเสร็จ)
๑. สมคิด ถามว่า "เราสามารถยกเลิกกฎหมายที่ถูกยกเลิกไปแล้วได้หรือไม่ เช่น การยกเลิก รธน. ๒๕๔๙"
คำตอบ คือ ได้ เพราะ รัฐธรรมนูญ ๔๙ ถูกรับรองการก่อผล (ของรัฐธรรมนูญปี ๔๙) ให้ดำรงอยู่โดยชอบด้วยมาตรา ๓๐๙ ตามรัฐธรรมนูญ ๕๐ หมายความว่า รัฐธรรมนูญ ๕๐ ได้ผนวกเอา "สภาวะทางกฎหมาย" ของรัฐธรรมนูญ ๔๙ เข้าไว้เป็นเนื้อหนึ่งอันเดียวกันกับรัฐธรรมนูญ ๕๐ นั่นเอง ซึ่งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขแดงที่ ๗๘๔๑/๒๕๕๓ (คดีที่คุณฉลาด ฟ้อง คมช) เพิ่งพิพากษาเมื่อปี ๕๓ (ซึ่งประกาศใช้รัฐธรรมนูญ๕๐ แล้ว) ก็ได้อ้าง ผลบังคับของรัฐธรรมนูญ ๔๙ ในฐานะแหล่งอ้างอิงความชอบด้วยกฎหมาย ในปัจจุบัน
๒. "ถ้าตำรวจจับคนร้ายที่ทำผิดจริงมาแต่ไม่ได้สอบสวนโดยละเอียด ต่อมาคนร้ายถูกฟ้องศาล มีการโต้แย้งว่ากระบวนการของตำรวจไม่ค่อยถูกต้อง แต่ศาลเห็นว่าไม่เป็นไร ศาลก็พิพากษาไป ตกลงคำพิพากษาของศาลใช้ได้หรือไม่"
ตอบ ดูตอนท้าย ในส่วนที่ผมตอบ กิตติศักดิ์ ปรกติ
๓. "ถ้ามีคนเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมในช่วง คมช.ไม่ถูกต้อง ก็ให้ดำเนินการใหม่ คนอีกกลุ่มเห็นว่าการตัดสินคดีซุกหุ้น ศาลตัดสินผิดโดยสิ้นเชิง คนกลุ่มหลังจะขอให้ยกเลิกรธน. ๒๕๔๐ ตั้งศาลรธน.ใหม่ แล้วพิพากษาคดีซุกหุ้นใหม่ จะได้หรือไม่"
ตอบ ได้ถ้าคุณใช้อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญตามกระบวนการทางรัฐธรรมนูญ
๔. "ประชาชนจะลงมติแก้รธน.ที่ถูกยกเลิกไปแล้วได้หรือไม่"
ตอบ ย้อนไปดูคำตอบในข้อ ๑.
๕. "รธน.๒๕๕๐ ได้รับการลงประชามติโดยประชาชน ในทางกฎหมายเราจะพูดได้หรือไม่ว่า ประชาชนลงมติโดยไม่ถูกต้อง หรือรธน. ๒๕๕๐ ไม่ได้ผ่านความเห็นชอบของประชาชน?"
ตอบ สมคิด ได้อ่านข้อเสนอนิติราษฎร์ไม่ เพราะหากอ่านแถลงการณ์นิติราษฎร์ ไม่เคยปฏิเสธการดำรงอยู่ของ รธน ๔๙ และ ๕๐ และไม่ปฏิเสธความชอบธรรมในระดับหนึ่งของประชามตินั้นด้วย แม้จะไม่เป็นประชามติโดยแท้(เลือกในสิ่งที่ไม่มีตัวเลือกที่ชัดเจน) , และนิติราษฎร์เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยนำร่างรัฐธรรมนูญ ดังกล่าว ไปลงประชามติ อีกครั้ง เช่นนี้ สมคิด จะตื่นเต้นอะไรครับ? เนื่องจาก นิติราษฎร์ มุ่งกำจัดสิ่งปฏิกูลของคณะรัฐประหาร และนำตัวพวกเขาเหล่านั้นมาลงโทษก่อกบฎ ทั้งตัวการ ผู้ใช้ และผู้สนับสนุน
๖. "คตส. ตั้งโดยคมช. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ตั้งโดย คมช. ใช่หรือไม่"
ตอบ ไม่ใช่ แต่ คตส ซึ่งแต่งตั้งโดยประกาศ คปค เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนพิจารณาของศาล และนิติราษฎร์กล่าวชัดว่า ศาลฎีกาฯ ตัวองค์กรตั้งมาก่อนแล้ว แต่กระบวนการทางคดี มิชอบ (โปรดดูตอนท้าย ที่ผมตอบ กิตติศักดิ์ เพิ่มเติม)
๗. "การดำเนินการตามแนวคิดของนิติราษฎร์ ไม่มีผลทางกฎหมายต่อนายกฯทักษิณเลยใช่หรือไม่"
ตอบ การกระทำความผิดหรือไม่ผิด ของทักษิณ ยังคงดำรงอยู่ตามกฎหมายที่บังคับใช้ในขณะที่กระทำ และอายุความก็ยังคงนับไปเรื่อยๆ เสมือนไม่มีการดำเนินคดีเกิดขึ้น หมายความว่า ปปช ซึ่งต้องถูกรีเซ็ตองค์กรมใหม่ จะฟ้องทักษิณ ก็ยังคงทำได้จนกว่าจะหมดอายุความ ทั้งนี้ ไม่เป็นฟ้องซ้ำ เพราะ การลบล้าง คือ ไม่เคยมีการฟ้อง มาก่อน
๘. "มาตรา ๑๑๒ ขัดแย้งกับ รธน .จริงหรือ และขัดกับรธน. ๒๕๕๐ ที่จะถูกยกเลิกใช่หรือไม่"
ตอบ ขัดรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ทุกฉบับครับ สมคิด ควรตอบให้ตรงๆ เลยว่า ความพอสมควรแก่เหตุระหว่างความผิดทางวาจา (มาตรา ๑๑๒) กับ โทษ เป็นไปตามหลักความพอสมควรแก่เหตุซึ่งเป็นรากหรือแก่น ของรัฐธรรมนูญในนิติรัฐประชาธิปไตยหรือไม่ นี่คือมาตรชี้ ที่นิติราษฎร์เสนอว่า ขัดรัฐธรรมนูญครับ (ไม่ว่าจะมี รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙หรือไม่ก็ตาม)
๙. "ประเทศทั้งหลายในโลกรวมทั้งเยอรมัน เขาไม่คุ้มครองประมุขของประเทศเป็นพิเศษแตกต่างไปจากประชาชนใช่หรือไม่"
ตอบ คุ้มครองครับว่า จะจับกุมคุมขังมิได้ เป็นเอกสิทธิ์ประมุขแห่งรัฐ เช่น ประมุขรัฐหนึ่ง เอาปืนยิงคน เช่นนี้จับกุมไม่ได้ ต้องถอดจากตำแหน่งเสียก่อน (เช่นการประหาร พระเจ้าหลุยส์ ตอนปฏิวัติฝรั่งเศส) แต่ freedom of expression เป็นคนละเรื่องกับ immunity of head of state ใน sense แบบนิติรัฐเสรีประชาธิปไตย นะครับ
๑๐. "ถ้ามีคนไปโต้แย้งนิติราษฎร์ในที่สาธารณะเขาจะไม่ถูกขว้างปาและโห่ฮาเหมือนกับหมอตุลย์ใช่หรือไม่"
ตอบ ผมไม่ใช่หมอดู หมอเดา หรือสุนัขรับใช้รัฐประหาร ที่จะตอบคำถามแบบนี้นะครับ
๑๑. "ถ้าเรายกเลิกกฎหมายที่ถูกยกเลิกไปแล้วได้ เราจะล้มเลิกการกระทำทั้งหลายและลงโทษคณะรัฐประหารกี่ชุด สุจินดา ถนอม ประภาส สฤษดิ์ จอมพล ป. อ.ปรีดี หรือจะลงโทษเฉพาะคณะรัฐประหารที่กระทำต่อนายกฯทักษิณ"
ตอบ นิติราษฎร์ เสนอว่า ให้ยกเลิกบรรดา "รัฐประหารที่ล้มล้างรัฐธรรมนูญ" ถ้ากรณีใดเข้าข่าย ต้องเอาผิดทั้งสิ้น, แต่บางกรณีบังคับการไม่ได้โดยสภาพ ผลคือ คดีอาญาระงับ ไงครับผม, สำหรับกฎหมาย เราให้ล้างหมด แล้ว valid ทีหลัง (ในทางสัญลักษณ์)
๑๒. "ความเห็นของนักกฎหมายที่เห็นไม่ตรงกับนิติราษฎร์แต่ดีกว่านิติราษฎร์ รัฐบาลนี้จะรับไปใช่หรือไม่"
ตอบ ไปถามรัฐบาลนะครับ อย่าคิดเอาเองแบบพวกนักรัฐประหาร นะครับ
๑๓. "ศาลรธน. ช่วยนายกฯทักษิณคดีซุกหุ้นถือว่าใช้ได้ แต่ไม่ช่วยคดียึดทรัพย์ถือว่าใช้ไม่ได้ เป็นตุลาการภิวัตน์ใช่หรือไม่"
ตอบ ผมไม่สนว่าใครช่วยใคร แต่ทุกคนจะถูกดำเนินคดีต่อเมื่ออยู่ในระบบกฎหมายที่ปกติ ไม่ถูกก่อตั้งสถานะและอำนาจโดยการรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญ (ซึ่งสถานะและอำนาจดังกล่าว เป็นบ่อเกิดของตุลาการภิวัตน์) ถามว่า กรณีซุกหุ้น ศาลพิพากษาโดยผ่านกระบวนการ รัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญ หรือไม่? ตอบคือ ไม่ ศาลพิพากษาในระบบกฎหมายปกติ และไม่ล้มสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เช่น การล้มผลการเลือกตั้ง โดยขัดหลักความพอสมควรแก่เหตุ เป็นต้น
๑๔. "บทบัญญัติว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรธน. ๒๕๕๐ แย่กว่า รธน. ๒๕๔๐, ๒๔๗๕ ที่นิติราษฎร์จะนำมาใช้ใช่หรือไม่"
ตอบ สมคิด ครับ รัฐธรรมนูญ เกิดทีหลัง ประชาชน ซึ่งมีสิทธิเสรีภาพมาก่อนแล้ว ; ฉะนั้น แม้จะไม่มีหมวดสิทธิเสรีภาพ ถามว่า ประชาชน จะไม่มีสิทธิเสรีภาพหรือ? คำตอบคือ ไม่ เขายังมีบริบูรณ์ทุกประการ ; สังเกต จากรัฐธรรมนูญ ที่เขียนเรื่องสิทธิเสรีภาพ ของอเมริกา นะ เขียนเชิง negative ตลอดเลย คุณไม่ต้องไปเขียน เพราะยิ่งเขียน มันยิ่งแสดงอำนาจรัฐในการควบคุมสิทธิเสรีภาพเข้าไปเรื่อยๆ ล่ะครับ
๑๕. "คมช. เลว ส.ส.ร.ที่มาจาก คมช.ก็เลว รธน.๒๕๕๐ ที่มาจาก ส.ส.ร.ก็เลว แต่รัฐบาลที่มาจาก รธน. เลว เป็นรัฐบาลดีใช่หรือไม่"
ตอบ รัฐบาล ไม่ได้มาจากรัฐธรรมนูญ นะครับ รัฐบาลคลอดมาจาก เจตจำนงของประชาชน , รัฐธรรมนูญ เป็นเพียงฐานรับรองที่มาของรัฐบาล(ว่าให้มาจากการเลือกตั้ง แบ่งเขตอย่างไร) เป็นเพียง "วิธีการ" ซึ่งจะเลวหรือไม่ ต้องถามประชาชน หรือถ้าตอบว่า เลว แล้วถามต่อไปว่า ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ เลวหรือไม่ ในเมื่อคลอดรัฐธรรมนูญ(อย่างน้อยในการยกร่างฯ) มาจาก ผู้ร่างฯ ตรรกะเดียวกัน
๑๖. "ส.ส.ร.ที่มาจากรัฐบาลชุดนี้และที่ อ.วรเจตน์จะเข้าร่วม ก็เป็น ส.ส.ร.ที่ดีใช่หรือไม่
ตอบ ผมยังไม่เคยได้ยินว่า วรเจตน์ บอกว่า เข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม ทราบเพียงว่า ถ้าเข้าแล้วทำได้ตามประกาศนิติราษฎร์ ก็จะไป ซึ่งจะเป็นสสร ที่ดีหรือไม่ ผมตอบคุณสมคิด ไม่ได้หรอก แต่ถ้าถามว่า สสร ชุดที่มาจาก กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสถาบันการเมืองซึ่งมีที่มาจากการเลือกตั้งดำเนินการ มีความชอบธรรม (legitimacy) หรือไม่ ตอบว่า สสร.ซึ่งมีที่มาดังกล่าว ย่อมมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ครับ

ในท้ายนี้ ขอกล่าวสั้นๆว่า ผมไม่แปลกใจเลยว่า เหตุใด รัฐธรรมนูญฉบับ ๕๐ จึงร่างได้ห่วยแตก มักง่าย ตั้งแต่สารบัญหรือการจัดหมวดของรัฐธรรมนูญ (ขออภัยที่ใช้คำสามัญ) เมื่อได้เห็นวิธีตั้งคำถาม และมองประเด็นของคุณสมคิด เลิศไพฑูรย์ ในฐานะ ผู้ร่วมร่างรัฐธรรมนูญ คมช. ตลอดจน การที่ คุณสมคิด ตั้งคำถามลักษณะนี้ ซึ่งไม่จำต้องใช้สติปัญญาทางวิชาชีพแต่ประการใด จะมักง่ายไปล่ะมังครับ? ท่านไม่ต้องวิตกครับว่า หากอธิบายเป็นเนื้อความแล้ว จะมีคนมองว่า ท่าน "กลวง" แล้วหมดความเลื่อมใสทางวิชาการ เพราะอย่างน้อย ท่านจะยังมีความกล้าหาญทางวิชาการอยู่บ้าง.