วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

คนเสื้อแดง" กุนซือรัฐบาลยิ่งลักษณ์ คั่วเก้าอี้ที่ปรึกษาฯ เลขาฯ รองเลขาฯ ผช.รมต.พรึ่บ!


ประวัติ บทบาท และความเป็นมาของเครือข่าย "กลุ่มเสื้อแดง" ที่ได้รับปูนบำเหน็จข้าราชการการเมือง และว่าที่ข้าราชการการเมืองในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ทั้งในตำแหน่ง ที่ปรึกษารัฐมนตรี รองเลขานุการนายกรัฐมนตรี เลขานุการรัฐมนตรี กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี

พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี

ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี

นายทหาร จปร.7 หรือ "กลุ่มยังเติร์ก" เพราะชอบ กระทำปฏิวัติรัฐประหารมากที่สุดในหน้าการเมืองไทย

ทหารรุ่นเดียวกับ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง ผ่านสมรภูมิการรบมาแล้วนับไม่ถ้วน ทั้งสงครามเวียดนาม สงครามปราบปรามคอมมิวนิสต์ในลาว สำหรับบทบาททางการเมือง ช่วงวิกฤตการณ์การเมืองในปี 2548-2553 ก่อนเกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 สนับสนุน พล.ต.จำลอง ในการเคลื่อนไหวกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยทั้ง 2 ช่วง คือช่วงก่อนรัฐประหาร และช่วงปี 2551

พล.อ.พัลลภได้รับขนานนามเป็นสายบู๊ เพราะเชี่ยวชาญการรบนอกแบบ มีบทบาทดูแลแก้ปัญหาภาคใต้ ในยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ 1

แต่เกิดเหตุสังหารหมู่ที่มัสยิดกรือเซะช่วงเดือนเมษายน 2547 ทำให้ถูกสั่งย้ายออกจากพื้นที่ทันที พร้อมตั้งกรรมการสอบ แม้กรรมการจะชี้เป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ แต่จนบัดนี้ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ

อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

เป็นอดีตดีเจเครือข่ายคนเสื้อแดง พิธีกรรายการสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอ็มทีวี 5 และเอเชียอัพเดท

มีบทบาทร่วมการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มเสื้อแดงทั้งช่วงปี 2552-2553 โดยเฉพาะการดำเนินรายการบนเวทีการชุมนุม

รวมถึงมีบทบาทในการร่วมยุทธการดาวกระจายของกลุ่มเสื้อแดงในช่วงเดือนเมษายน 2553

วีระ ชูสถาน

ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

เป็นแกนนำคนเสื้อแดง และ นปช. มีบทบาทร่วมการชุมนุมทางการเมืองทั้งปี 2552-2553 และเป็นหัวหน้าดาวกระจายจุดย่อยในปี 2553

ไพจิตร อักษรณรงค์

ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

อดีตนักร้องเพลงลุกทุ่ง-ลูกกรุงหลายค่ายเพลง ชีวิตส่วนตัว เคยสมรสกับ "คณิต อุทยานสิงห์" หรือ "นิค นิรนาม" นักร้องเพลงลูกทุ่ง-เพื่อชีวิต ปัจจุบันสมรสกับ "วิสา คัญทัพ" กวี นักร้อง และนักแต่งเพลงเพื่อชีวิต

ปัจจุบัน "ไพจิตร" เป็นสมาชิก นปช.แดงทั้งแผ่นดิน มักจะขึ้นแสดงดนตรีบนเวทีปราศรัยของ นปช.ในปี 2552-2553 ไม่เคยขาด ร่วมเคลื่อนไหวไม่ห่างเวทีราชประสงค์ จนถูกออกหมายจับตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

แต่มีข่าวว่าหลบหนีไปได้ กระทั่งปรากฏว่ามีชื่อในตำแหน่งทางการเมืองของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์

ธนกฤต ชะเอมน้อย(วันชนะ เกิดดี)

ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

เป็นสมาชิก นปช. มีบทบาทร่วมการชุมนุมมาโดยตลอด โดยเฉพาะงานด้านการบันเทิงบนเวที เพราะเป็นอดีตนักร้องลูกทุ่ง และในการชุมนุมที่ราชประสงค์ ได้ขับขานบทเพลงกล่อมมวลชนทุกค่ำคืน โดยเฉพาะบทเพลงแห่งการต่อสู้ของคนเสื้อแดงเพลงหนึ่ง ได้แก่ "เพลงของประชาชน เพื่อประชาชน" "ใครก็รักทักษิณ"

หลังการเคลื่อนไหวรุนแรงในปี 2553 ถูกออกหมายจับตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

และมีข่าวหลบหนีซ่อนตัวยังประเทศกัมพูชาเช่นเดียวกับแกนนำเสื้อแดงอีกหลายคน

รังสี เสรีชัยมุ่ง(รังสี เสรีชัย)

ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

สมาชิก นปช. อดีตนักร้องลูกทุ่งชื่อดัง ก่อนที่ชื่อเสียงจะตกต่ำ จึงหันไปทำธุรกิจร้านอาหารตามจังหวัดต่างๆ รวมทั้งที่ จ.สระบุรี และลงเล่นการเมืองท้องถิ่นโดยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาล อ.มวกเหล็ก ช่วงปี 2543-2547 รวมทั้งพยายามขยับมาเล่นการเมืองระดับประเทศ ด้วยการสมัคร ส.ส. สังกัดพรรคมหาชน เขต 2 จ.สระบุรี ปี 2548 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

กระทั่งเข้าร่วมกับกลุ่ม นปช.เคลื่อนไหวทางการเมืองบนเวที มีบทบาททั้งการดำเนินรายการและขับกล่อมเสียงเพลงแก่มวลชนเสื้อแดง

แน่นอน หลังศึกราชประสงค์ เขาก็โดนหมายจับเหมือนแกนนำคนอื่นๆ แล้วหายหน้าค่าตาไปนาน

พ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรัตน์

ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

แกนนำ นปช.จ.ชุมพร อดีตประธานสมาคมประมง จ.ชุมพร ผู้ดำเนินการออกบัตรสมาชิกของกลุ่ม นปช. เคยตั้งเวทีปราศรัยและยืนยันที่จะติดตั้งจานดาวเทียมดีทีวี ประจำทุกอำเภอในชุมพร ทำให้กลุ่มพันธมิตร จ.ชุมพร ไม่พอใจและเข้าล้อมบ้านของนางกฤษณา สิทธิสาร สมาชิก นปช. เพราะไม่พอใจที่เอาป้ายศูนย์ประสานงาน นปช.ชุมพร มาติดไว้หน้า บ้าน

นอกจากนั้น พ.ต.ต.เสงี่ยมยังเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 กรณีการบุกอาคารรัฐสภา และเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับในการชุมนุม พ.ศ.2553 อีกด้วย ซึ่งก็หลบหนีอีกคน

พิพัฒน์ชัย ไพบูลย์

ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

แกนนำ นปช. ร่วมงานเคลื่อนไหวทางการเมืองปี 2553 จนได้เป็นผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขต 27 บางรัก แต่ก็พ่ายแพ้ราบคาบ และมามีชื่อรับแต่งตั้งเป็นข้าราชการการเมืองในครั้งนี้

วรวุฒิ วิชัยดิษฐ

ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

รักษาการโฆษก นปช. มีบทบาทประสาน สื่อสาร และแถลงข่าวความเคลื่อน ไหวของกลุ่ม นปช.มาโดยตลอดการชุมนุม จนปัจจุบัน

ด้านการเมืองเคยเป็นผู้สมัคร ส.ส.เขต จ.สุราษฎร์ ธานี ชนกับสุเทพ เทือกสุบรรณ จากประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งซ่อมที่ผ่านมา แต่ต้องแพ้อย่างราบ คาบ

อรรถชัย อนันตเมฆ

ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

แกนนำ นปช. อดีตดารานักแสดงชื่อดัง มีผลงานการแสดงทั้งภาพยนตร์และละครทางจอแก้วนับไม่ถ้วน ร่วมการชุมนุมอย่างเหนียวแน่นกับกลุ่ม นปช.ที่ราชประสงค์ และเงียบหายไปหลังมีการสลายการชุมนุม จนมีชื่อเป็นข่าวอีกครั้งกับตำแหน่งทางการเมือง

ชินวัฒน์ หาบุญพาด

ที่ปรึกษา รมช.คมนาคม

เป็นแกนนำ นปช.คนสำคัญ เดิมเป็น "ดีเจ" รายการวิทยุเครือข่ายแท็กซี่ เป็นนายกสมาคมพิทักษ์ผลประโยชน์ผู้ขับรถแท็กซี่ ที่ชื่นชอบในตัว พ.ต.ท.ทักษิณ

มีบทบาทในการก่อตั้งและผู้จัดรายการของสถานีวิทยุชุมชนคนแท็กซี่ เอฟเอ็ม 92.75 เมกะเฮิร์ตซ์ และเอฟเอ็ม 107.5 เมกะเฮิร์ตซ์ และเป็นแกนนำ นปช.รุ่นที่ 2 เข้ามาเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเข้ามาสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 ก่อนรัฐประหาร รวมทั้งร่วมกับกลุ่มคาราวานคนจนที่สวนจตุจักร ร่วมเข้าปิดล้อมอาคารเนชั่นทาวเวอร์

ลงสมัคร ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 72 ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด

ถูกออกหมายจับคดีก่อการร้ายและตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่สำคัญคือเป็นหนึ่งใน 19 ผู้ต้องหาคดีหมิ่นสถาบันที่ดีเอสไอออกหมายจับ

ประแสง มงคลศิริ 

ที่ปรึกษา รมช.ศึกษาธิการ

แกนนำ นปช. ชาวอุทัยธานี อดีต ส.ส.พรรคไทยรักไทย ล่าสุด เป็นผู้สมัครบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย มีบทบาทงานการศึกษามาก่อน และในอดีตเคยขุดคุ้ยคดีปลอมแปลงวุฒิการศึกษาของ "บรรหาร ศิลปอาชา" หัวหน้าพรรคชาติไทยในเวลานั้น

ขณะที่ กกต.ตั้งกรรมการสอบเรื่องผลิตและเผยแพร่วีซีดีภาพเสียง พ.ต.ท.ทักษิณ หมิ่นเหม่ขัดต่อกฎหมายเลือกตั้ง เขากลับนำวีซีดีพร้อมรูป พ.ต.ท.ทักษิณขนาดใหญ่ติดขบวนรถหาเสียง ไปเย้ยที่หน้าสำนักงาน กกต.อุทัยธานี เปิดปราศรัยโจมตีท้าทาย 5 เสือ กกต.ว่า จบนิติศาสตร์จะกล้าแจกใบแดงเอาผิดเขาได้หรือไม่ ถ้าได้ก็จะเผาปริญญาวิศวะของตัวเอง

ถือว่ามีบุคลิกที่ดุเดือด กล้าท้าชน

อารี ไกรนรา

เลขานุการ รมว.มหาดไทย

แกนนำ นปช.ตัวจริง เหนียวแน่นดูแลจัดการการชุมนุมทุกครั้ง เป็นชาว จ.นคร ศรีธรรมราช โดยกำเนิด มีบทบาทกำเนิดเครือข่าย นปช. นครศรีธรรมราชและวิทยุชุมนุมเสื้อแดงในนครศรี ธรรมราช

รับผิดชอบงานรักษาความปลอดภัยหรือเป็นหัวหน้าทีมการ์ด นปช.ในทุกการชุมนุม ทำงานใกล้ชิดกับ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธ.แดงในการรักษาความปลอดภัยการชุมนุม

ถูกออกหมายจับสารพัด เคยมีข่าวคราวเมื่อถูกแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษา พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย เมื่อครั้งเป็นรองประธานสภา จนต้องลาออกเพื่อลบภาพลักษณ์

ยศวริศ ชูกล่อม (เจ๋ง ดอกจิก)

ผู้ช่วยเลขานุการรมว.มหาดไทย

แกนนำเสื้อแดงตัวฉกาจ จากบทบาทดาราตลกบนเวทีการแสดง กลับกลายเข้ามาเป็นหนึ่งในแกนนำ นปช. บนเวทีการชุมนุม

"เจ๋ง ดอกจิก" หรือชื่อเดิมว่า นายประมวล ชูกล่อม เคยเป็นตัวละครที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ ออกมาแฉว่า เป็นบุคคลที่จ้างผู้สมัครพรรคเล็ก 3 คน คนละ 3 หมื่นบาท ให้ลงรับสมัครเลือกตั้ง ทั้งที่รู้ว่าคุณสมบัติไม่ครบก่อนจะกลายเป็นหลักฐานหนึ่งที่นำไปสู่การยุบพรรคไทยรักไทย

นอกจากนี้ ในการชุมนุม นปช.ที่ผ่านมา เป็นบุคคลหนึ่งที่เกือบถูกเจ้าหน้าที่รวบตัวได้สำเร็จ ในคราวที่ไปปิดล้อมโรงแรมเอส ซี ปาร์ค แต่ก็สามารถหนีออกมาได้

ล่าสุด เจ๋ง ดอกจิก เข้ามอบตัวพร้อมๆ กับแกนนำเสื้อแดงคนอื่นๆ และถูกควบคุมตัวอยู่ จนได้รับประกันตัวในยุครัฐบาลเพื่อไทย

สมหวัง อัศราษี 

ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์

เป็นนักธุรกิจเสื้อแดง มีบทบาทสนับสนุนการชุมนุมของ นปช.หลายครั้งในด้านต่างๆ เป็นประธานบริษัท สแกนเนอร์ อิเลคทริก อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านแบรนด์มิซูชิต้า บริษัท กรุงสยามเครื่องดื่ม จำกัด ผู้ผลิตเครื่องดื่มชูกำลัง "หมี คอมมานโด" และชาเขียว "วายเจ" และดำรงตำแหน่งรักษาการรองประธาน นปช.

ถือเป็นนักธุรกิจที่มีตำแหน่งในองค์กรแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติเป็นคนแรก

ชนะ อัตถาวงศ์ 

ข้าราชการการเมือง

น้องชาย "สุภรณ์ อัตภาวงศ์" หรือแรมโบ้อีสาน แกนนำ นปช. ถูกออกหมายจับตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพราะเป็นแกนนำเคลื่อนไหวคนสำคัญ ที่นำกลุ่มเสื้อแดงก่อเหตุทุบรถนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯที่กระทรวงมหาดไทยในปี 2552 เข้ามาช่วยงาน นปช.ตามรอยพี่ชาย และมีบทบาทสำคัญในการคุมมวลชนในโอกาสต่างๆ

ชาญยุทธ เฮงตระกูล 

ข้าราชการการเมือง

แกนนำคนเสื้อแดงพัฒนา เครือข่ายเสื้อแดงสำคัญที่มีบทบาทการชุมนุมที่พัทยาในปี 2552 ยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ สายของ ศักดา นพสิทธิ์ แกนนำเสื้อแดงชลบุรีผู้ใกล้ชิด นายยงยุทธ ติยะไพรัช แกนนำพรรคไทยรักไทย พิสูจน์ผลงานด้วยการเคลื่อนไหวล้มการประชุมอาเซียนซัมมิทที่โรงแรม รอยัล คลิฟบีช ได้ จนเป็นข่าวดังไปทั่วโลก

เพชรวรรต วัฒนพงศ์ศิริกุล 

ข้าราชการการเมือง

แกนนำเสื้อแดง จ.เชียงใหม่ สังกัด "กลุ่มรักเชียงใหม่ 51" เป็นกลุ่มที่มีอุดมการณ์ค่อนข้างรุนแรงและศรัทธาต่อ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นอย่างมาก เป็นแกนนำจัดตั้งทั้งมวลชนพื้นที่เชียงใหม่และจังหวัดภาคเหนือ จัดตั้งและดำเนินรายการวิทยุชุมชน และนำมวลชนเคลื่อน ไหวอย่างหนักหน่วงในพื้นที่ภาคเหนือในยุค คมช.

คารม พลพรกลาง 

ข้าราชการการเมือง

ทนาย นปช.ที่ทำทุกเรื่อง ทุกคดี ทั้งแพ่ง หมิ่นประมาท การเมือง ของกลุ่ม นปช. ผ่านมือเขาทั้งหมด ถือเป็นทนายความที่มีบทบาทสำคัญมาก โดยมี มานิต จิตต์จันทร์กลับ อดีตหัวหน้าศาลฎีกา อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา แกนนำ นปช. เป็นหัวเรือใหญ่ทำคดีความ

ซึ่งมานิตเป็นมือขวา สุวรรณ วลัยเสถียร พงศ์เทพ เทพกาญจนา ไพฑูรย์ เนติโพธิ์ มือกฎหมายสำคัญตั้งแต่พรรคไทยรักไทย โดย "คารม" จะเป็นแนวหน้าที่ออกทำงานในฐานะคณะทำงานด้านกฎหมายของพรรคเพื่อไทย หลังๆ มักออกมาแถลงข่าวพร้อมกับนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทยเป็นประจำ
(มติชนรายวัน ฉบับ 29 สิงหาคม2554 หน้า2)

วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2554

คำเตือนก่อนคุณทักษิณไปญี่ปุ่น: ใครฉลาด? ใครเป็นผู้ร้ายข้ามแดน? Tue, 2011-08-16 00:21


คำเตือนก่อนคุณทักษิณไปญี่ปุ่น: ใครฉลาด? ใครเป็นผู้ร้ายข้ามแดน?

ใครฉลาด?
พันตำรวจโท ดร. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาว่ามีความผิดเกี่ยวกับการทุจริตซื้อขายที่ดินย่านรัชดาภิเษก ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 2 ปี แต่คุณทักษิณเห็นว่าคำพิพากษานั้นไม่เป็นธรรม จึงปฏิเสธการจับกุมโดยหลีกไปอาศัยอยู่ ณ ต่างประเทศ
ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าคุณทักษิณได้รับเชิญไปบรรยายเรื่องเศรษฐกิจที่ประเทศญี่ปุ่น และมีการให้สัมภาษณ์ว่าการเดินทางดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลไทย แม้จะมีรายงานข่าวว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยได้ยอมรับว่าได้หารือเรื่องดังกล่าวกับทูตของญี่ปุ่นก็ตาม (http://bit.ly/p91HBp)
 
ล่าสุด (15 สิงหาคม 2554) สำนักข่าว Kyodo ประเทศญี่ปุ่นรายงานการแถลงข่าวโดยเลขาธิการคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลญี่ปุ่นว่า กงสุลใหญ่แห่งญี่ปุ่น ณ ดูไบ ได้ออกหนังสือตรวจลงตรา (วีซ่า) เพื่ออนุญาตให้คุณทักษิณสามารถเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นได้เป็นกรณีพิเศษ หลังได้รับการร้องขอจากรัฐบาลไทย (“in response to a request from Thailand”  http://bit.ly/qVFL8h)
 
สำนักข่าว AFP รายงานคำแถลงข่าวของเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นในทางเดียวกันว่า รัฐบาลไทยได้แจ้งว่าไม่มีนโยบายห้ามคุณทักษิณเดินทางไปประเทศอื่น และขอให้ประเทศญี่ปุ่นออกวีซ่าให้คุณทักษิณ (“The Thai government… takes a policy of not prohibiting former prime minister Thaksin from visiting any country and requested that Japan issue a visa”http://bit.ly/mRPUg2)
 
หากคำพูดของเลขาธิการคณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่นพอเชื่อถือได้ สื่อมวลชนไทยสมควรต้องกลับมาถามรัฐบาลไทยที่เพิ่งเข้ามาทำงานไม่กี่วันว่า ที่มีคนบอกว่ารัฐบาลไทยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการออกวีซ่าครั้งนี้นั้น ใครพูดจริง ใครโกหก???
 
ความจริงหากจะพูดให้ดูดีหน่อย ก็น่าจะบอกว่า กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (ข้อ 12 แห่งสนธิสัญญา ICCPR ซึ่งทั้งไทยและญี่ปุ่นต่างเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องเคารพ) ก็รับรองสิทธิเสรีภาพของคุณทักษิณให้สามารถเดินทางได้อย่างเสรีภายในประเทศใดประเทศหนึ่งได้ หากคุณทักษิณเข้าไปในประเทศนั้นโดยถูกกฎหมาย
 
อีกทั้งรัฐธรรมนูญไทย มาตรา 82 ก็สื่อความให้รัฐบาลไทยต้องเคารพสิทธิมนุษยชนข้อนี้ แน่นอนว่าหากคุณทักษิณเดินทางเข้ามาสู่เขตบังคับของกฎหมายไทย ไทยก็ย่อมต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายไทย
 
ในเมื่อสุดท้ายคุณทักษิณก็ยังคงเป็นมนุษย์ กฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนซึ่งติดตัวคุณทักษิณอยู่แต่เดิมก็มิได้หายไปไหน การที่คุณทักษิณได้รับวีซ่าญี่ปุ่นอย่างถูกกฎหมายเพื่อเดินทางไปแสดงความคิดเห็นด้านเศรษฐกิจ หรือแสดงความห่วงใยต่อผู้ประสบภัยธรรมชาติ จึงมิใช่เรื่องที่ผิดกฎหมาย และก็คงอยู่นอกอำนาจที่รัฐบาลไทยจะไปห้ามญี่ปุ่นได้ ไทยจะไปยุ่มย่ามเรื่องภายในก็จะหาว่าแทรกแซงและผิดกฎบัตรสหประชาชาติ
 
อีกทั้งกฎหมายว่าด้วยการตรวจคนเข้าเมืองและผู้ลี้ภัยของประเทศญี่ปุ่น ค.ศ. 1953 แก้ไขล่าสุด ค.ศ. 2009 มาตรา 5-2 ได้เปิดช่องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมสามารถออกวีซ่าพิเศษให้กับผู้ที่ต้องโทษจำคุก เช่น คุณทักษิณ ให้เข้าญี่ปุ่นได้ หากเห็นว่าเป็นกรณีสมควร
 
แต่เมื่อรัฐบาลไทยไม่เคยชินกับการอ้างเรื่องสิทธิมนุษยชน และดันมีคนใจดีไปช่วยขอวีซ่าจนกลายเป็นข่าว จนมีผู้ตั้งประเด็นว่า เป็นการทำให้การจับกุมคุณทักษิณลำบากขึ้นและผิดกฎหมายนั้น เป็นการฉลาดหรือไม่ ก็น่าคิดอยู่!
 
ใครเป็นผู้ร้ายข้ามแดน?
เกิดคำถามตามมาว่า ในเมื่อคุณทักษิณมีความผิดตามกฎหมายไทย ถูกศาลฎีกาไทยพิพากษาจำคุก 2 ปี แล้วหากคุณทักษิณเดินทางไปญี่ปุ่น ไทยจะขอให้ญี่ปุ่นส่งตัวคุณทักษิณกลับมารับโทษในประเทศไทยในลักษณะการส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้หรือไม่?
 
ตอบว่าไทยขอได้ แต่ญี่ปุ่นจะส่งตัวคุณทักษิณมาหรือไม่ เป็นไปได้ยาก หากตอบโดยไม่ต้องนึกถึงข้อกฎหมายใดๆ การที่ญี่ปุ่นอนุญาตให้คุณทักษิณเข้าเมืองมากล่าวสุนทรพจน์และเยี่ยมผู้ประสบภัยเป็นกรณีพิเศษแล้วค่อยเข้าจับกุมส่งตัวนั้น คงจะดูแปลกอยู่
 
และหากพิจารณาในข้อกฎหมาย ก็จะพบอุปสรรคหลายด่าน ดังนี้
 
ด่านที่ 1: ไทยและญี่ปุ่นยังไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน
จริงอยู่ว่าเมื่อปี พ.ศ. 2552 ไทยและญี่ปุ่นได้ลงนามสนธิสัญญาอีกฉบับ คือสนธิสัญญาว่าด้วยการโอนตัวผู้ต้องคำพิพากษาและความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษา ซึ่งอาจมีผู้เข้าใจผิดว่า เป็นสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน
 
ความจริงสนธิสัญญาฉบับนี้เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับกรณีที่ไทยจับคนญี่ปุ่นที่ทำผิดกฎหมายไทย แล้วอาจส่งตัวคนญี่ปุ่นนั้นกลับไปจำคุกที่ญี่ปุ่นตามโทษกฎหมายไทย ในทางเดียวกัน ญี่ปุ่นก็อาจส่งตัวคนไทยที่ทำผิดกฎหมายญี่ปุ่นกลับมาจำคุกที่ไทย
 
แต่กรณีคดีของคุณทักษิณนั้น เป็นกรณีที่คนไทยต้องโทษจำคุกตามกฎหมายไทย จึงไม่เกี่ยวข้องกับสนธิสัญญาดังกล่าว (นอกจากคุณทักษิณเข้าญี่ปุ่นแล้วดันทะลึ่งทำผิดกฎหมายบ้านเขาแล้วถูกจำคุก ไทยก็อาจขอให้ส่งตัวมาได้)
 
ด่านที่ 2: ไม่มีสนธิสัญญาก็ส่งได้ แต่ส่งยาก
การที่ไทยและญี่ปุ่นไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน ไม่ได้แปลว่าการส่งผู้ร้ายข้ามแดนจะทำไม่ได้ เพียงแต่ทำได้ยาก เพราะทั้งสองฝ่ายต่างต้องอาศัยกฎหมายภายในประเทศและ “วิถีทางการทูต” (diplomatic channel)” ซึ่งอาศัยดุลพินิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นสำคัญ
 
ด่านที่ 3: กฎหมายไทยให้อำนาจนักการเมือง ไม่ใช่อัยการ
พระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551 มาตรา 30 ให้อัยการสูงสุดของไทยมีอำนาจวินิจฉัยว่าจะร้องขอให้ญี่ปุ่นส่งผู้ร้ายข้ามแดนหรือไม่ แต่กระนั้น กฎหมายก็ยังเปิดช่องให้ “คณะรัฐมนตรีมีมติเป็นอย่างอื่น” ได้ กล่าวคือหากอัยการสูงสุดต้องการขอ แต่คณะรัฐมนตรีไม่ต้องการให้ขอ สุดท้ายก็ขอไม่ได้
 
ด่านที่ 4: กฎหมายญี่ปุ่นไม่ให้ส่งฟรีๆ
แม้หากสุดท้ายคณะรัฐมนตรีไทยไม่ขัดข้อง ก็มิได้แปลว่าไทยขอแล้วญี่ปุ่นจะให้ทันที แต่กฎหมายภายในของประเทศญี่ปุ่น คือ กฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ค.ศ. 1953 แก้ไขล่าสุด ค.ศ. 2004 กำหนดว่า นอกจากฝ่ายไทยต้องส่งคำขอพร้อมเอกสารรายละเอียดที่เข้าเงื่อนไขต่างๆ แล้ว มาตรา 3 ยังบังคับว่า ไทยต้องให้คำมั่นว่าจะส่งตัวผู้ร้ายจากไทยไปที่ญี่ปุ่นในลักษณะต่างตอบแทนอีกด้วย (reciprocity) กล่าวโดยง่ายก็คือ หากไทยไม่มีผู้ร้ายไปสัญญาแลก ญี่ปุ่นก็ไม่ส่งให้
 
ด่านที่ 5: รัฐมนตรีญี่ปุ่นต้องพอใจ
ไทยต้องเอาผู้ร้ายไปสัญญาแลกเท่านั้นไม่พอ กฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนของญี่ปุ่น มาตรา 4 ยังกำหนดว่า ในกรณีที่ไทยและญี่ปุ่นไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมของญี่ปุ่นมีดุลพินิจพิจารณาอย่างกว้างขวางว่า “หากเป็นการไม่เหมาะสม” (deemed to be inappropriate) ญี่ปุ่นก็ไม่จำเป็นต้องทำตามคำขอของไทย ซึ่งอะไรจะเหมาะสมหรือไม่นั้น ก็คงสุดแท้แต่ที่ท่านรัฐมนตรีของญี่ปุ่นจะคิด
 
ด่านที่ 6: กฎหมายญี่ปุ่นระบุข้อห้ามไม่ให้ส่งตัว
แม้ท่านรัฐมนตรีของญี่ปุ่นจะมองว่าเป็นการเหมาะสมที่จะส่งคุณทักษิณกลับมาประเทศไทย ก็มิใช่ว่าจะส่งได้ แต่ต้องผ่านด่านกฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนของญี่ปุ่น มาตรา 2 ซึ่งกำหนดข้อห้ามไม่ให้ส่งตัวคุณทักษิณไว้อีกหลายกรณี หากเข้ากรณีใดกรณีหนึ่ง ก็ส่งไม่ได้ อาทิ
 
- ห้ามส่งตัวหากเห็นว่าความผิดของคุณทักษิณเป็นความผิดทางการเมือง (political offense) หรือการขอให้ส่งตัวคุณทักษิณเป็นการพยายามนำตัวคุณทักษิณมาลงโทษทางการเมือง
 
(เช่น คุณทักษิณอาจต่อสู้ว่า คดีความทั้งหมดนั้นมุ่งเล่นงานคุณทักษิณตั้งแต่กระบวนการรัฐประหารโค่นอำนาจทางการเมือง ฯลฯ แต่คุณทักษิณก็ต้องไม่ลืมว่า คดีที่ศาลฎีกาตัดสินนั้นเป็นเรื่องการทุจริตเกี่ยวกับการประมูลที่ดิน ญี่ปุ่นอาจไม่มองว่าเป็นเรื่องการเมือง)
 
- ห้ามส่งตัวหากความผิดคุณทักษิณตามกฎหมายไทยเป็นความผิดที่มีโทษเบา กล่าวคือกฎหมายญี่ปุ่นกำหนดว่า หากโทษความผิดคุณทักษิณเป็นโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ก็ห้ามส่งตัว
 
(เช่น คุณทักษิณอาจต่อสู้ว่า คุณทักษิณถูกศาลไทยพิพากษาจำคุกเพียง 2 ปี จึงเป็นกรณีโทษเบาที่ไม่ให้ส่งตัว แต่อย่าลืมว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ที่ศาลไทยใช้ลงโทษคุณทักษิณนั้น มาตรา 122  ได้บัญญัติให้มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี สุดท้ายก็ขึ้นอยู่ว่าญี่ปุ่นจะตีความกฎหมายอย่างไร)
 
- ห้ามส่งตัวหากความผิดของคุณทักษิณตามกฎหมายไทยเป็นความผิดที่ไม่สามารถเอาผิดหรือลงโทษตามกฎหมายของญี่ปุ่นได้ (double criminality)
 
(เช่น คุณทักษิณอาจต่อสู้ว่า ความผิดเรื่องการทุจริตที่เกิดจากการประมูลที่ดินโดยภรรยานายกรัฐมนตรีนั้น แม้กฎหมายไทยจะมองว่าผิด แต่กฎหมายญี่ปุ่นอาจไม่ถือว่าเป็นความผิด ก็ห้ามส่งตัว)
 
หากจะบอกว่าคุณทักษิณมั่นใจในข้อกฎหมายว่าไม่ถูกส่งตัวกลับไทย ก็พอเข้าใจอยู่ แต่ที่น้องคุณทักษิณต้องมานั่งตอบคำถามว่า ทำไมถึงไม่ขอส่งตัว หรือทำไมขอแล้วส่งมาไม่ได้ ก็อาจเข้าใจยากหน่อย
 
หรือกล่าวอีกทางหนึ่ง สุดท้ายใครเป็นผู้ร้ายข้ามแดนหรือไม่ ข้อนี้ตอบง่าย แต่งานนี้ใครฉลาดหรือไม่ ข้อนี้ตอบยาก!